ทำไม การศึกษาญี่ปุ่นถึงพัฒนา ?
ทำไมเราจึงควรเรียนรู้การศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ประเทศนี้มีอะไรดีหรือ? วันนี้มองการศึกษาโลกจะพาชาว Interscolarship ทุกคนมารู้จักกับการศึกษาในประเทศที่ขึ้นชื่อว่า มีคุณภาพการศึกษาที่มีคุณภาพอย่าง “ประเทศญี่ปุ่น” กันครับ
หลายคนอาจรู้จักญี่ปุ่นในหลากหลายมุมมอง เช่น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่น่าไปเที่ยว มีทั้งภูเขาไฟฟูจิ ดอกซากุระที่บานสะพรั่งในฤดูใบไม้ผลิ การอาบน้ำแร่แช่น้ำร้อนแบบญี่ปุ่น (onsen) รถไฟหัวกระสุนความเร็วสูง (shinkansen) ประเทศที่พ่ายแพ้สงครามโลก ถูกระเบิดปรมาณูทำลายที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ
รวมถึงเรื่องความมีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา การเคารพผู้อาวุโส ขยัน มานะ และอดทน ของคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะเรื่องความมีระเบียบวินัย จะเห็นได้ชัดเจนจากเหตุการณ์การเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และเกิดสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา เหตุการณ์ครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ สถานที่สำคัญต่างๆ มีคนตายจำนวนมาก รวมทั้งการขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม แต่คนญี่ปุ่นก็ยังไม่ละทิ้งความมีระเบียบวินัยแม้ในยามที่ประเทศตกอยู่ภาวะวิกฤต ดังจะเห็นได้จากการเข้าแถวรับของบริจาค การเข้าแถวซื้อของในร้านสะดวกซื้อ และการซื้อน้ำดื่มในจำนวนที่จำกัดต่อคนตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีลักษณะอุปนิสัยเช่นนี้ คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาคน และพัฒนาประเทศชาติ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นได้มีการปฏิรูปการศึกษา โดยระบบการศึกษาเป็นแบบ 6-3-3-4 กล่าวคือ ระดับชั้นประถมศึกษา 6 ปี ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี และระดับอุดมศึกษา 4 ปี มีจุดประสงค์หลักเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันทางการศึกษา สำหรับการศึกษาภาคบังคับได้ขยายจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ดังรายละเอียดในภาพที่ 1
ภาพ ระบบการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น
มาตรฐานหลักสูตรของชาติได้ถูกจัดทำขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม การกีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (The Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology : MEXT) ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนทุกๆ 10 ปี สำหรับมาตรฐานหลักสูตรของชาติที่ใช้ในปัจจุบันเป็นมาตรฐานที่จัดทำเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยมีหลักการดังต่อไปนี้
1) สถานศึกษาสามารถสร้างหลักสูตรสถานศึกษาที่เหมาะสมเองได้
2) หลักสูตรสถานศึกษาต้องอยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานหลักสูตรของชาติ
3) การพิจารณาระดับการพัฒนาทางจิตใจและร่างกาย
ในระดับประถมศึกษาแบ่งเวลาเรียน 1 คาบเรียน เท่ากับ 45 นาที
ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย 1 คาบเรียน เท่ากับ 50 นาทีในการปรับมาตรฐานหลักสูตรของชาติครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2551 นั้น ในระดับประถมศึกษาได้เพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนประมาณ 10% ในวิชาภาษาญี่ปุ่น สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ และพลศึกษา ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นก็ได้เพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนประมาณ 10% เช่นเดียวกัน ในวิชาภาษาญี่ปุ่น สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ พลศึกษา ส่วนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวนของหน่วยกิตที่บังคับสำหรับจบการศึกษาจะต้องมีอย่างน้อย 74 หน่วยกิต
ชีวิตการเรียนที่น่าสนใจของการเรียนระดับมัธยมศึกษาในประเทศญี่ปุ่น
สำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตร์ได้มีการสร้างหลักสูตรตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแต่ละครั้งได้มีจุดเน้นดังต่อไปนี้
หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2494 และ 2495
-ผู้เรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้
-จากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันนำไปสู่การผลิตสื่อการเรียนการสอน
-วิธีการแก้ปัญหาโดยศึกษาวิธีการแก้ปัญหาจากประเทศเพื่อนบ้าน
หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2501, 2502 และ 2503
-วิธีการสอนที่เน้นธรรมชาติของการเรียนรู้
-ในระดับประถมศึกษาเน้นหลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
-ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายเน้นเนื้อหาในแต่ละรายวิชา
หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2511, 2512 และ 2513
-เน้นกระบวนการสืบเสาะหาความรู้
-การใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์
-ให้ความสำคัญกับการคัดเลือก ออกแบบสื่อการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2517
-ปรากฏการณ์ธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน
-วิธีการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน
-ผู้เรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้
หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2520, 2521
-การพัฒนาผู้เรียนตามลักษณะธรรมชาติของมนุษย์
-การนำเสนอกิจกรรมในรูปแบบ hands-on การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และมีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้
-เนื้อหาบูรณาการ
หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2532
-เพิ่มการทดลองและการสังเกตมากขึ้น
-เพิ่มเนื้อหาเชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและสังคม
-พิจารณาความหลากหลายของสถานการณ์ที่แท้จริงของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2541
-เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สนุก
-มีชื่อวิชาทางวิทยาศาสตร์ใหม่ เช่น พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์บูรณาการ A วิทยาศาสตร์บูรณาการ B
-ปริมาณเนื้อหาลดลง 30% และจำนวนชั่วโมงเรียนแต่ละวิชาลดลง 10%
-ปรับปรุงการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนเป็นรายบุคคล เพิ่มวิชาเลือกในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และลดวิชาบังคับในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2551 และ 2552
-เพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
-เพิ่มกิจกรรมสืบเสาะหาความรู้ การสังเกต ประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์
-จัดกรอบหลักสูตรวิทยาศาสตร์ในเนื้อหาการสอนเรื่อง พลังงาน อนุภาค ชีวิต และโลก
นอกจากนี้ญี่ปุ่นก็ได้กำหนดจุดประสงค์ของการเรียนวิทยาศาสตร์ในภาพรวมไว้ดังนี้
1) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถคุ้นเคย สังเกต ปรากฏการณ์ธรรมชาติ
2) เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถแก้ปัญหา
3) เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างถ่องแท้
4) เพื่อให้ผู้เรียนมีวิธีการคิดทางวิทยาศาสตร์
จากจุดเน้นของหลักสูตรวิทยาศาสตร์ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าประเทศญี่ปุ่นได้ปลูกฝังเยาวชนของชาติซึ่งจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตให้รู้จักการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เนื้อหาที่นักเรียนได้เรียนในห้องเรียนสามารถเชื่อมโยงมาสู่การปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันได้ รวมทั้งเนื้อหาเชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและสังคม จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่พ่ายแพ้สงครามโลก เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดปรมาณู ทำไมวันนี้ถึงได้กลับกลายมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก หรือแม้แต่เหตุการณ์สึนามิเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศญี่ปุ่นก็ได้พิสูจน์ให้ประเทศอื่นๆ ได้เห็นแล้วว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นไม่สามารถทำให้คนญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้ เราคงต้องเจาะลึกเพื่อเรียนรู้ประเทศนี้ให้มากยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูล : – อรสา ชูสกุล (สสวท.)
-Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology (MEXT) (2011). Principle Guide Japan’s Educational system. Retrieved from
http://www.mext.go.jp/english/introduction/1033952.htm (22/05/2012)
ขอบคุณรูปภาพ :
patrickmccoy.typepad.com,
www.degj.com
About Auther : ต้นซุง Eduzones (609 Posts)International Education Columnist, Webmaster, Correspondent