การศึกษาของไทยในบริบทประชาคมอาเซียน
การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) เป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ
1) ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community หรือ APSC) ความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมืองเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาด้านอื่นๆประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนจึงเป็นเสาหลักความร่วมมือ 1 ใน 3 เสาหลัก ที่เน้นการรวมตัวของอาเซียนเพื่อสร้างความมั่นใจเสถียรภาพ และสันติภาพในภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนในอาเซียนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และปราศจากภัยคุกคามด้านการทหาร และภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เช่น ปัญหายาเสพติด และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ
2) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่มีการแข่งขันสูง อันส่งผลให้ประเทศต่างๆ ต้องปรับตัวเองเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจโลก รวมถึงการรวมกลุ่มการค้ากันของประเทศต่างๆ อาทิ สหภาพยุโรป และเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ
3) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community หรือ ASCC) มีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้านเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน โดยมีแผนปฏิบัติการด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ระบุอยู่ในแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ ซึ่งประกอบด้วย ความร่วมมือใน 6 ด้าน ได้แก่ การพัฒนามนุษย์ (Human Development) การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม (Social Welfare and Protection) สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice and Rights) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน (Building and ASEAN Identity) การลดช่องว่างทางการพัฒนา (Narrowing the Development Gap)
ในบริบทดังที่กล่าวมาย่อมจะส่งผลกระทบทางด้านการศึกษาของไทยในระดับอุดมศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการแข่งขันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษาและวัฒนธรรมในภูมิภาคอาเซียน ส่วนในด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา ผู้เขียนมีมุมมองว่า ควรมีการปรับตัวและการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ
การปรับตัวและการเตรียมความพร้อมของรัฐบาลในเชิง คือ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาควรมีนโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ในการรองรับการเตรียมความพร้อมของอุดมศึกษาไทยในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมา นโยบายที่รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนมากนักในการนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งควรมีนโยบายในการปรับตัวและการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแก่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม
การปรับตัวด้านการเตรียมความพร้อมของอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา คือ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองทางด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการทางวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษากลางในการสื่อสารในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาการปรับเปลี่ยนทางด้านการจัดระบบอุดมศึกษาของไทย ตั้งแต่การเปลี่ยนสถานะของอาจารย์จากที่เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา มาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย หรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษานั้น ทำให้ความมั่นคงทางด้านอาชีพ ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางด้านฐานเงินเดือน ซึ่งจากเดิมการปรับเปลี่ยนมาเป็นระบบพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น รัฐบาลได้มีเจตนารมณ์ให้มีการจัดสรรงบประมาณและฐานเงินเดือนแก่พนักงานมหาวิทยาลัยมากกว่า ฐานเงินเดือนของข้าราชการ 1.5 เท่าแก่พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน และ 1.7 เท่าแก่พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ หรืออาจารย์ แต่ในปัจจุบันหาได้เป็นไปตามเจตนารมณ์เดิมที่ได้ตั้งไว้ไม่ บางมหาวิทยาลัยนั้นพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนยังมีสถานภาพที่มีความไม่มั่นคง และสุ่มเสี่ยงต่อการให้ออกจากงาน เนื่องจากยังยึดโยงอยู่กับระบบสัญญาที่ไม่มีความมั่นคง และขึ้นอยู่กับระบบการประเมินเพื่อต่อสัญญาซึ่งบ่งบอกถึงความไม่มั่นคงในอาชีพ ตลอดจนปัญหาการบริหารจัดการที่ดีหรือธรรมาภิบาลของผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ที่ส่งผลต่อสถานะของอาจารย์ที่ถูกเปลี่ยนไป ทำให้ศักยภาพและประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน และการเพิ่มคุณภาพการศึกษาของไทยมีความอ่อนด้อยลงไปมาก ตลอดจนยังไม่มีระบบการเสริมสร้างและสนับสนุนให้พนักงานมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาศักยภาพของตนเองทั้งทางด้านภาษา และการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไปอย่างเพียงพอต่อการรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และจากมหาวิทยาลัยในสังกัดเอง ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญส่งผลต่อการศึกษาไทยในระดับอุดมศึกษา และการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้านการศึกษา รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว และมีนโยบายที่ชัดเจนต่อบุคลากรทางด้านการศึกษาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
การปรับตัวด้านการเตรียมความพร้อมของนักศึกษา คือ นักศึกษานั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียนรู้ปรับตัว และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต เช่น นักศึกษาต้องมีความสนใจและตระหนักถึงผลที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการรวมตัวของประเทศต่างๆ สู่ประชาคมอาเซียนในส่วนของข้อดีและข้อเสียอย่างเข้าใจ การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนซึ่งสังคมยุคใหม่จะสะท้อนความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น การเรียนรู้ของนักศึกษายุคใหม่จึงจำเป็นต้องปรับทั้งกระบวนการเรียนรู้ ปรับทัศนคติที่จะต้องตระหนักถึงความเป็นชาติ การปรับกระบวนทัศน์การเรียนรู้ยุคใหม่ควรเป็นไปอย่างมีเป้าหมาย อย่างคนรู้เท่าทันสถานการณ์ การสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นที่ต่างวัฒนธรรมได้และเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านทั้งในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน พร้อมกับสร้างโอกาสเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ต้องเพิ่มทักษะทางด้านภาษาอังกฤษให้มากขึ้นให้สามารถสื่อสารได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญที่สุด คือ การปรับตัวและการเตรียมความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น ในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะว่าถ้าหากชุมชนท้องถิ่นไม่มีมาตรการหรือแผนรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ก็จะเกิดความเสียเปรียบทางด้านการแข่งขันการตลาด ตลอดจนทางด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมท้องถิ่นที่ถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และการสร้างชุมชนเศรษฐกิจอาเซียนที่จำเป็นต้องมีผู้นำชุมชนท้องถิ่นที่มีวิสัยทัศน์ให้มีความสามารถในการบูรณาการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียนให้เข้ากับเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่งต้องมีกลไกและสถาบันการศึกษาต่างๆ ในท้องถิ่นเอง ต้องมีการสนับสนุนในการประสานงานและการดำเนินการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นแก่ชุมชนท้องถิ่นในอนาคต แก่ผู้นำชุมชนและประชาชนในท้องถิ่นเพื่อเรียนรู้และปรับตัวในการวางแผนชุมชนท้องถิ่นเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป.
ขอบคุณ: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์