432 ทุนพัฒนาท้องถิ่นให้ม.6-ปวช.
มกราคม 6, 2010
by: bowing
Visit 1,938 views
โครงการทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เตรียมมอบทุนศึกษาต่อต่างประเทศจำนวน ๔๓๒ ทุน แก่นักเรียนที่จบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ หรือ ปวช. ในปีการศึกษาหน้า โดยรมว.ศธ.จะนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเร็วนี้
นาย วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโครงการทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ครั้งที่ ๓/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๐ ที่ห้องประชุม ศธ.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ทุนศึกษาต่อต่างประเทศ ๔๓๒ ทุน แก่นักเรียนที่จบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ หรือ ปวช. ในปีการศึกษาหน้า พร้อมจะนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเร็วนี้
รมว.ศธ. กล่าวภายหลังการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ได้นำมติ ครม.เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ซึ่งได้เห็นชอบตามข้อเสนอของ ศธ.ในการจัดสรรงบประมาณผูกพันตามโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน ทั้ง ๒ รุ่นจนจบการศึกษา โดยมีข้อสังเกตไว้ ๒ ประการ กล่าวคือ ประการแรก การให้ทุนศึกษาต่อต่างประเทศดังกล่าวต้องใช้เงินมาก อาจเป็นภาระทางการเงินที่เกินกำลัง ซึ่ง ครม.ได้ขอให้พิจารณาว่าจะเว้นการให้ทุนบางปีได้หรือไม่ และประการที่สอง ให้พิจารณาว่าหลังจากผู้ที่ได้รับทุนจบการศึกษาแล้ว จะมีช่องทางหรือมีโอกาสที่จะทำงานให้กับท้องถิ่นต่างๆ ได้อย่างไร
ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้นำข้อสังเกตจาก ครม.มาพิจารณาในครั้งนี้ โดยมีมติจะเรียกทุนรุ่นที่ ๓ นี้ว่า “ทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” ซึ่ง จะเป็นทุนที่จะคัดเลือกจากนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าทั่ว ประเทศ ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีต่างประเทศ เฉพาะประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ตามจุดมุ่งหมายเดิมของโครงการ
ส่วนจำนวนทุนรุ่นที่ ๓ นั้น รมว.ศธ.กล่าวว่าการที่จะให้ทุนเหมือนโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุนทั้งสองรุ่นมาแล้วนั้น จะเป็นภาระทางการเงินมาก จึงเปลี่ยนเป็นให้ทุนตามเขตพื้นที่การศึกษา โดยทุนสายสามัญจะให้ ๑๗๘ เขตพื้นที่ๆ ละ ๒ คน รวม ๓๕๖ ทุน โดยเขตพื้นที่จะคัดเลือกนักเรียนจากต่างอำเภอกัน ซึ่งอาจจะไม่ครบทุกอำเภอ ส่วนทุนสายอาชีวะ จะใช้จังหวัดเป็นฐาน จังหวัดละ ๑ คน รวม ๗๖ ทุน รวมทั้งสิ้น ๔๓๒ ทุน ทำให้งบประมาณลดลงจากรุ่นที่ ๑ และ ๒ ลงครึ่งหนึ่ง แต่ยังทำต่อไปได้
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ประการสำคัญของการให้ทุนคือ เพื่อให้ตรงตามความต้องการของท้องถิ่น จึงจะได้มีการสำรวจทุกปีก่อนที่จะประกาศรับทุน ซึ่งนักเรียนก็จะต้องสมัครในสาขานั้น และเมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็จะให้แต่ละท้องถิ่นและจังหวัดได้สำรวจไว้ล่วงหน้าเช่นกัน เพื่อจะได้แนะนำให้ผู้จบการศึกษาไปทำงานตามความต้องการของท้องถิ่น
สำหรับการดำเนินงานในรุ่นที่ ๓ นั้น จะให้โอกาสนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า (ปวช.) เฉพาะผู้ที่จบในปีการศึกษาหน้า (ปีการศึกษา ๒๕๕๐) เข้ารับการคัดเลือกเพื่อไปศึกษาต่อในปี ๒๕๕๑ อย่างไรก็ตามข้อเสนอทั้งหมดนี้ จะได้เร่งนำเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง