รู้จักเนเธอร์แลนด์ประเทศสุดฮิตในการเรียนต่อและความสัมพันธ์กับประเทศไทย
หลายๆคนอาจจะได้ยินชื่อประเทศเนเธอร์แลนด์หรือฮอลแลนด์ แล้วคิดถึงทุ่งดอกทิวลิป, กังหันลม หรือทีมฟุตบอล แต่นอกจากทีมฟุตบอลแล้ว ประเทศเนเธอร์แลนด์หรือฮอลแลนด์ก็ยังมีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆอีกหลายด้านอย่างไม่น่าเชื่อแล้วเทคโนโลยีเหล่านั้นมาอยู่ในประเทศไทยบ้างหรือเปล่า อย่างไร
เริ่มจากเรื่องใกล้ๆตัวกันก่อน เมื่อช่วงน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยก็ได้รับความช่วยเหลือด้านการจัดการน้ำจากเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ดังนั้นจึงต้องพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการกั้นน้ำ สร้างเขื่อน มาป้องกันประเทศตัวเองให้ได้ นอกจากนี้ชาวดัชท์ยังพัฒนาความรู้ไปถึงการสร้างแผ่นดินจากบริเวณที่เคยเป็นทะเล การทำให้แผ่นดินแห้งสำหรับทำการเกษตรและอยู่อาศัย การสร้างบ้านลอยน้ำ ฉะนั้นถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำแล้วล่ะก็ ต้องมุ่งหน้าหาผู้เชี่ยวชาญจากเนเธอร์แลนด์เป็นดีที่สุด ถ้าน้องๆที่สนใจอยากเรียนรู้ด้านน้ำ สถาบันจากประเทศเนเธอร์แลนด์คือ UNESCO-IHE ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเดลฟท์ (TU Delft)มีความร่วมมือกับAIT เปิดสอนโปรแกรมปริญญาโท Double Degree ด้าน Urban Water Engineering and Management
เนื่องจากเมืองร็อตเตอร์ดัมเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป อุตสาหกรรมการเดินเรือและการโลจิสติกส์ของเนเธอร์แลนด์ก็ไม่แพ้ใคร เพราะต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กระจายสินค้า บริษัทใหญ่ๆก็ไปตั้งสำนักงานที่เมืองร็อตเตอร์ดัมกันมาก เพราะสะดวกในการทำธุรกิจ สิ่งที่ตามมาจากการเป็นเมืองท่าก็คือ ผู้คนที่เดินทางมาจากทั่วทุกมุมโลก ทำให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ รวมไปถึงด้านสุขภาพ ฉะนั้นโรงพยาบาลที่ร็อตเตอร์ดัม Erasmus Medical Center (EMC) จึงเป็นโรงพยาบาลที่ทำงานวิจัยด้านสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์รวมไปถึงมีความเชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ โรคเขตร้อน และภูมิคุ้มกันโรคเป็นอย่างดี ขณะนี้ EMC กำลังทำงานร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในการแลกเปลี่ยนนักวิจัย รวมไปถึงทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ในการส่งนักเรียนและคณาจารย์ไปร่วมวิจัยด้วย
อีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของหลายๆวงการ นั่นก็คือเรื่องการเปิดเสรีอาเซียน (ASEAN Economic Community) 2015โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมตัวของนักเรียนไทยที่ความสามารถด้านภาษาอังกฤษอาจจะยังสู้หลายๆประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ ในเรื่องนี้ก็มีมหาวิทยาลัยจากเนเธอร์แลนด์ที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยไทยเช่นกัน นั่นก็คือ Fontys University of Applied Sciences ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สร้างโครงการฝึกหัดครูภาษาอังกฤษชาวไทย โดยเป็นการเรียนระดับปริญญาตรี เพื่อสอนภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษา โดยเน้นไปที่การฝึกสอนในห้อง และการให้นักเรียนมีส่วนร่วมในห้อง ซึ่งการพัฒนาครูสอนภาษาอังกฤษชาวไทยน่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่เหมาะสมและยั่งยืนมากกว่าการจ้างครูต่างชาติด้วยเงินเดือนราคาแพงแต่ไม่สามารถสื่อสารกับนักเรียนได้อย่างถูกต้อง หรือไปจากประเทศไทยทันทีที่ไม่มีเงินจ้าง
หากท่านใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาต่อประเทศเนเธอร์แลนด์ สามารถติดต่อได้ที่
นัฟฟิค เนโซ ประเทศไทย
ชั้น 3 อาคาร M Thai,ตึกออลซีซั่นส์เพลส เลขที่ 87 ถ.วิทยุ ปทุมวัน กทม. 10330
โทร. 02-2526088 แฟกซ์ 02-2526033 info@nesothailand.org,
www.nesothailand.org, facebook.com/nufficnesothailand