ประชาคมอาเซียนกับแนวโน้มด้านภาษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วันนี้ทีมงาน Interscholarship ไปเจอบทความดีๆเกี่ยวกับการใช้ภาษาของคนในอาเซียนของ คุณวีระพงษ์ ปัญญาธนคุณ และในเฟนเพจ ASEAN Community มา เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ประชาคมอาเซียนกับแนวโน้มด้านภาษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งมีความน่าสนใจมาก และก่อให้เกิดประโยชน์กับวงการการศึกษาและการเตรียมตัวเรื่องภาษาของคนไทยได้เป็นอย่างดีครับ ขออนุญาตลงบทความเผยแพร่เพื่อการศึกษาต่อไปดังนี้ครับ
(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยายใหญ่)
สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกจัดตั้งขึ้นตามปฏิญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1967 โดยมีประเทศสมาชิกก่อตั้งเพียง 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย บูรไนเข้าร่วมเมื่อ ค.ศ. 1984 เวียดนาม ค.ศ. 1995 ลาวและพม่า ค.ศ. 1997 และกัมพูชาประเทศสุดท้ายใน ค.ศ. 1999 แม้ว่ากฎเกณฑ์ในเรื่องการใช้ภาษาในอาเซียนจะมิได้กำหนดไว้ในปฏิญญากรุงเทพฯ แต่ภาษาอังกฤษก็เป็นภาษากลางเพียงภาษาเดียวที่ใช้เป็นสื่อกลางการสื่อสารระหว่างสมาชิกในกลุ่มโดยทางพฤตินัยตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เพิ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 2007 ที่ผ่านมานี้เองที่มีเค้าว่าภาษาอังกฤษในฐานะภาษากลางของอาเซียนจะได้ถูกกำหนดไว้อย่างเป็นทางการ เมื่อมีแนวคิดเสนอให้บัญญัติกฎบัตรของอาเซียนขึ้น ในมาตราที่ 34 ของกฎบัตรอาเซียนระบุให้ใช้ภาษาทำงานของอาเซียนคือภาษาอังกฤษ (The working language of ASEAN shall be English) ซึ่งมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2008 ที่ผ่านมามีความพยายามเพียง 2 ครั้งที่เรียกร้องให้นำภาษาอื่นๆ มาใช้เป็นภาษาทางการของอาเซียนแต่ทั้งสองครั้งล้วนแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อครั้งเวียดนามขอเสนอตัวเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนได้เรียกร้องให้ใช้ภาษาฝรั่งเศสในองค์การแห่งนี้ร่วมกับภาษาอังกฤษ
ความพยายามครั้งที่สองเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1997 ในการประชุมอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและการข้อมูลข่าวสาร เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารของมาเลเซียเสนอให้ใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาทางการภาษาที่สองของอาเซียน[1] เนื่องจากภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาประจำชาติหรือภาษาราชการของประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนการกำหนดใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางส่งผลให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวในระดับที่ต่างกัน สำหรับประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย บูรไน และฟิลิปปินส์ เมื่อเทียบเท่ากับประเทศอื่นที่เหลือ การปรับตัวในด้านการปรับปรุงทักษะความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับประชากรภายในชาติอาจไม่ยุ่งยากหรือในบางประเทศอาจไม่เป็นปัญหาเลย เนื่องจากกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการและใช้ในการเรียนการสอนภายในโรงเรียนอยู่แล้ว เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ หากพิจารณาเป็นรายประเทศจะพบว่าแต่ชาติในอาเซียนใช้ภาษาภายในท้องถิ่นที่แตกต่างกันดังนี้
ตารางที่ 1 ภาษาสำคัญที่ใช้ในแต่ละชาติอาเซียน
ที่ | ประเทศ | ภาษาสำคัญที่ใช้ | ||
|
|
|
|
|
1 | กัมพูชา | เขมร ฝรั่งเศส อังกฤษ | ||
2
|
ไทย | ไทย และอังกฤษ(ภาษาที่สองของชนชั้นนำ) | ||
3 | บรูไน | มาเลย์ อังกฤษ จีน | ||
4 | พม่า | พม่า และภาษาชนกลุ่มน้อย | ||
5 | ฟิลิปปินส์ | ฟิลิปปิโน โดยเฉพาะตากาล๊อก และอังกฤษ | ||
6
|
มาเลเซีย |
มาลายู อังกฤษ จีนกลุ่มต่างๆ(กวางตุ้ง, แมนดาริน, ฮกเกี้ยน, ไห่หนาน) ทมิฬ
|
||
7 | ลาว | ลาว ฝรั่งเศส อังกฤษ และภาษาชนกลุ่มน้อย | ||
8 | เวียดนาม | เวียดนาม อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน เขมร | ||
9 | สิงคโปร์ | จีนกลาง อังกฤษ มาเลย์ ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง แต้จิ๋ว ทมิฬ | ||
10 | อินโดนีเซีย | อินโดนีเซีย อังกฤษ ดัตช์ ชวา |
ดังนี้จะเห็นได้ว่า ชาติส่วนใหญ่ในอาเซียนมีภาษาประจำชาติเป็นของตนเอง จึงทำให้ภาษาอังกฤษถูกนำมาใช้ในฐานะภาษากลางของอาเซียนตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เมื่อรัฐบาลประเทศในอาเซียนมีเป้าหมายร่วมกันในการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นจนถึงขั้นประชาคมทางเศรษฐกิจภายใน ค.ศ. 2015 ยิ่งจะทำให้ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาสำคัญของประชากรทุกคนของอาเซียนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประชาคมอาเซียนมีวัตถุประสงค์ที่จะ (1) มุ่งให้เกิดการไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า การบริการ การลงทุน และเงินทุน (2) มุ่งที่จะจัดตั้งให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว หมายความว่า แต่ละประเทศจะต้องถือว่าสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศสมาชิก อื่นๆ เป็นเสมือนของตนเอง ต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกันหมด สิทธิประโยชน์ใดที่ให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนภายในประเทศตนก็ต้องให้แก่คนต่างชาติในอาเซียนด้วย นอกจากนี้ แรงงานวิชาชีพ และแรงงานที่มีทักษะมีอิสระที่จะสามารถเคลื่อนย้ายไปประกอบอาชีพที่ใดก็ได้ภายในอาเซียน ดังนั้น เมื่อเกิดประชาคมทางเศรษฐกิจอาเซียนขึ้นอย่างสมบูรณ์ ผู้ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้จึงอยู่ในฐานะเสียเปรียบในด้านการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานวิชาชีพและแรงงานมีฝีมือ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจำนวนและสัดส่วนของผู้ใช้ภาษาอังกฤษในแต่ละประเทศจะพบว่า ประชาชนที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในกลุ่มประเทศอาเซียน ยกเว้น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ยังมีสัดส่วนอยู่ไม่มากนัก โปรดดูตารางข้างล่าง
ตารางที่ 2 จำนวนและสัดส่วนผู้ใช้ภาษาอังกฤษในชาติอาเซียนบางประเทศ**
ที่ | ประเทศ | จำนวนประชากรทั้งประเทศ (ล้านคน) |
ผู้ใช้ภาษาอังกฤษ
(ล้านคน)
|
สัดส่วน (%) |
1. | ไทย | 63.03 | 6.54 | 10.00 |
2. | บูรไน | 0.38 | 0.14 | 37.73 |
3. | ฟิลิปปินส์ | 97.00 | 49.80 | 55.46 |
4. | มาเลเซีย | 27.17 | 7.40 | 27.24 |
5. | สิงคโปร์ | 4.58 | 3.25 | 71 |
ฉะนั้น นอกจากภาษาอังกฤษที่ประชากรอาเซียนควรให้ความสำคัญแล้ว การเรียนรู้ภาษาประจำชาติของแต่ละชาติในฐานะภาษาหลักของประชากรส่วนใหญ่ใช้สื่อสารกัน จึงควรได้ รับความสำคัญไม่แพ้กัน สำหรับภาษาประจำชาติที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับความสำคัญเป็นพิเศษ แบ่งตามเกณฑ์ขนาดทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์ (ไม่รวมฟิลิปปินส์) อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มประเทศทางตอนบนมี 5 ประเทศ ได้แก่ พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย กลุ่มนี้มีประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ 2 ชาติ ได้แก่ เวียดนามและไทย ดังนั้น ภาษาไทยและเวียดนามจะเป็นภาษาที่มีอิทธิพลอย่างมากในกลุ่มนี้ กลุ่มประเทศตอนล่างมี 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน กลุ่มนี้มีประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ 3 ชาติ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ดังนั้น ภาษาประจำท้องถิ่นที่จะมีอิทธิพลมากในกลุ่มนี้ คือ กลุ่มภาษามาเลย์ ซึ่งใช้เป็นภาษาราชการในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบูรไน
ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษและภาษาประจำถิ่นของประเทศในอาเซียนซึ่งจะมีเพิ่มมากขึ้นภายหลังจัดตั้งประชาคมอาเซียนในอีก 5 ปีข้างหน้า ทำให้รัฐบาลรวมทั้งประชาชนในหลายประเทศเกิดความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญการเรียนภาษาอังกฤษรวมถึงภาษาที่ใช้ภายในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างจริงจัง ในลาวและเวียดนาม รัฐบาลเร่งรัดนโยบายปรับเปลี่ยนให้การใช้ภาษาฝรั่งเศสในฐานะภาษาที่สองเป็นภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่าง ปีที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของลาวขอลาพักราชการเพื่อฝึกเรียนภาษา อังกฤษในประเทศนิวซีแลนด์เป็นเวลานานเกือบ 4 เดือน นอกจากนั้น ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษยังถูกใช้เป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับการพิจารณาเลื่อนขั้นตำแหน่งทางราชการทั้งในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา[2] ในประเทศเวียดนามพบว่าภาษาไทยเป็นที่นิยมของนักเรียนนักศึกษาจำนวนมาก
สำหรับประเทศไทย ผลจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมื่อ 24 ตุลาคม 2552 ได้ให้การรับรองปฏิญญาชะอำ-หัวหินว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือทางการศึกษาเพื่อบรรลุประชาคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ริเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) และกิจกรรมโครงการพัฒนาประชาคมสู่อาเซียน (Spirit of ASEAN) โดยคัดเลือกโรงเรียนเข้า ร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาความพร้อมและศักยภาพในการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาประจำชาติอาเซียนจำนวน 54 โรงเรียนทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีจำนวน 24 โรงเรียนเป็นที่ตั้งอยู่ในบริเวณชายแดน ซึ่งมุ่ง เน้นการจัดการเรียนภาษาเพื่อนบ้านจำนวน 4 ภาษา ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย กลุ่มนี้เรียกว่า Buffer Schoolsในขณะที่อีก 30 โรงเรียน นอกจาก จะมุ่งเน้นการเรียนการสอนภาษาในอาเซียนแล้ว ยังต้องมุ่งเน้นการสอนภาษาอังกฤษและเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วย กลุ่มนี้เรียกว่า Sister Schools นอกจากในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว การเรียนการสอนภาษาประจำชาติของกลุ่มประเทศอาเซียนยังเพิ่มจำนวนแพร่หลายมากขึ้นในสถาบันระดับอุดมศึกษาของรัฐทั่วประเทศ
จากความสำคัญของภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นของกลุ่มประเทศในอาเซียนซึ่งทวีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องที่นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไปไม่ควรจะมองข้ามอีกต่อไป สำหรับรัฐบาลไทยนั้น การขับเคลื่อนนโยบายศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคและกิจกรรมโครงการพัฒนาประชาคมสู่อาเซียนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมย่อมเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง
ขอบคุณข้อมูลและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : deepsouthwatch และ ASEAN Community