ต่างชาติเผชิญสัมภาษณ์ภาคบังคับก่อนเข้าUK
หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของUKได้อำนาจใหม่เพิ่มขึ้น โดยสามารถปฏิเสธการอนุญาติเข้าประเทศของนักเรียนต่างชาติที่สมัครเรียนในอังกฤษ หากยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความน่าเชื่อถืออยู่ หลังจากทำการสัมภาษณ์แล้ว
โดยมาตรการใหม่นี้ นักเรียนต่างชาติมากกว่า 10,000 คน ที่ยื่นขอวีซ่าเพื่อการศึกษาในสหราชอาณาจักรต้องเผชิญกับการทดสอบเข้มขึ้น ด้วยการสัมภาษณ์ภาคบังคับซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ UK Border Agency ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อคัดกรองพวกที่มีวัตถุประสงค์แอบแฝงในการเข้าเมือง
นอกจากเจ้าหน้าที่ของ UKBA จะได้อำนาจใหม่ที่จะปฏิเสธนักศึกษาต่างชาติที่ขาดความน่าเชื่อถือ หลังถูกสัมภาษณ์ในการเข้าเมืองแล้ว ผู้ที่ไม่ได้แสดงตัวเพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ก็จะถูกปฏิเสธการเข้าสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน หากไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมมาแสดง โดยการปรับกลวิธีคัดกรองคนเข้าเมืองของรัฐบาลของนาย David Cameron ครั้งนี้ รายงานแจ้งว่า เป็นการเปลี่ยนแนวทางการทำงาน หลังจากก่อนหน้านี้ใช้วิธีรวบรัดโดยวางเป้าลดจำนวนคนเข้าเมืองเป็นตัวเลขไว้สูง แต่ก็ต้องกังวลเกี่ยวกับคำเตือนของบางฝ่ายที่ชี้ว่า อาจเป็นการทำลายอุตสาหกรรมการศึกษาของUK มูลค่าปีละ 8 พันล้านปอนด์ให้พังทะลายลง
ตัวเลขล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงให้เห็นว่าการเข้าเมืองในสหราชอาณาจักรยังคงอยู่ที่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์คือกว่าปีละ 250,000 คน รัฐบาลปัจจุบันได้ให้คำมั่นที่จะลดตัวเลขให้เหลือต่ำกว่า 100,000 คน ก่อนการเลือกตั้งต่อไป
สำหรับโครงการสัมภาษณ์นักเรียนต่างชาติกลุ่มเป้าหมายล่าสุด จะเริ่มดำเนินการวันที่ 30 กรกฏาคม 2012 และจะมีผลเกี่ยวข้องกับนักเรียนต่างชาติที่สมัครขอวีซ่านักเรียน ในจำนวน 10,000 -14,000 คนต่อปี โดยเมื่อปีที่แล้วมีการนำร่องไปก่อน โดยใช้เจ้าหน้าที่กงสุลที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ 13 แห่ง ทำการสัมภาษณ์ผู้สมัครขอวีซ่านักเรียนกว่า 2,300 คนจาก 47 ประเทศมาแล้ว
รายงานแจ้งว่า พวกที่อยู่ในข่ายสูงสุดที่จะถูกปฎิเสธวีซ่าเพราะปัญหาขาดความน่าเชื่อถือนั้น มักเป็นผู้สมัครขอวีซ่านักเรียนจากประเทศอินเดีย,ปากีสถาน,บังคลาเทศ, ศรีลังกา, พม่า, ไนจีเรีย และฟิลิปปินส์ ดังนั้นชาติเหล่านี้จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายของโปรแกรมใหม่ที่จะใช้สิ้นเดือนกรกฎาคมนี้
Damian Green รัฐมนตรีว่าการกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองกล่าวว่า สหราชอาณาจักรยังคงเปิดรับนักเรียนที่เก่งและมีความยอดเยี่ยมทางวิชาการ นี่เป็นข้อกำหนดที่ชัดเจน
“แต่ถ้าคุณทำการสมัครหรือกรอกแบบฟอร์มด้วยข้อความที่โกหก หรือพยายามที่จะซ่อนเร้นเหตุผลที่แท้จริงของการต้องการเข้ามาในUK คุณก็จะถูกตรวจพบและปฎิเสธวีซ่าในที่สุด”
แหล่งข่าว : Alan Travis, home affairs editor/The Guardian, Monday 9 July 2012