โครงการนร.หนึ่งอำเภอหนึ่งทุนเดินหน้า พร้อมแก้ปัญหาเดิม
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมนโยบายด้านต่างประเทศ ของ ศธ. ว่า ได้มอบให้ สป.จัดทำเกณฑ์โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 3 โดยจะเริ่มปีการศึกษาหน้า เน้นนักเรียน ม.4 เพื่อให้มีระยะเวลาเตรียมตัวเรียนรู้หลักสูตร ภาษาที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศมากขึ้น พร้อมทั้งมีแนวคิดให้นักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศวิชาการและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ได้รับการอบรมพัฒนาในสาขาวิชานั้นๆ มากขึ้น
โดย 5 องค์กรหลังของศธ.ได้สรุปถึงภารกิจด้านต่างประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการเป็น 3 รูปแบบ คือ
- ความร่วมมือพหุภาคี กับองค์การต่าง ๆ คือ UNESCO SEAMEO ASEAN
- ความร่วมมือระดับทวิภาคี หรือความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ที่ผ่านมา ทั้งประเทศในอาเซียน เอเชีย-แปซิฟิก สหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และประเทศตะวันออกกลาง
- ความร่วมมือที่เป็นนโยบายพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ศึกษาต่อต่างประเทศและในประเทศ ทั้งนี้ ศธ.จะเน้นความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งความร่วมมือกับองค์การต่าง ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคจนถึง UNESCO ให้มากขึ้น เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองกับประเทศต่างๆ ได้อย่างราบรื่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ได้ดำเนินการไปแล้ว 2 รุ่น จากข้อมูล ณ วันที่12 กันยายน 2554 พบว่าในรุ่นแรก ปี 2547 มีผู้ได้รับทุน 921 คน และสำเร็จการศึกษาแล้ว 638 คน (แยกเป็นต่างประเทศ 438 คน ในประเทศ 200 คน) ส่วนรุ่นที่ 2 ปี 2549 มีผู้ได้รับทุน 915คน สำเร็จการศึกษาแล้ว 202 คน (แยกเป็นต่างประเทศ 123 คน ในประเทศ 79 คน)
ซึ่ง รัฐบาลมีนโยบายที่จะดำเนินการในรุ่นที่ 3 โดยเน้นให้ไปศึกษาในสาขาวิชาที่ตรงตามความต้องการของประเทศ และสาขาวิชาที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ สามารถนำองค์ความรู้กลับมาพัฒนาประเทศมากขึ้น จึงได้มอบให้ สป.จัดทำเกณฑ์โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ในปีการศึกษาหน้า
โดยนำปัญหาที่พบจากการดำเนินการมาแล้วทั้ง 2 รุ่น มาปรับใช้ให้เกิดผลกระทบต่อโครงการน้อยที่สุด โดยเฉพาะปัญหานักเรียนที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ ไม่มีระยะเวลาเตรียมตัวที่ดีพอ ปรับตัวลำบาก ภาษาไม่ไหว ส่งผลกระทบให้เรียนไม่จบ หรือต้องกลับมาเรียนต่อในประเทศไทยหลายราย
ในรุ่นที่ 3 นี้จะให้เด็กได้มีระยะเวลาเตรียมตัวมากขึ้น จึงมีแนวคิดให้เด็กที่ได้รับการคัดเลือก ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และสถานศึกษาเอกชน ควรมีการเตรียมตัวมาตั้งแต่ ม.4 เพื่อให้ระยะเวลาภายในเวลา 3 ปี ก่อนที่เด็กจะเดินทางไปศึกษาต่อได้มีโอกาสปรับตัว เรียนรู้ภาษา หลักสูตร และวิชาการด้านต่าง ๆให้มีความพร้อมก่อนจะไปศึกษาต่อ
โดยจะให้มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงในแต่ละสาขาวิชาที่เด็กจะไปศึกษา สำหรับแนวทางดำเนินการหรือปัญหาใดๆ ของโครงการซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้รัฐบาลตัดสินใจ ก็ให้เสนอเข้ามา เพื่อให้ ครม.พิจารณา ต่อไป
No Comments Comments on "โครงการนร.หนึ่งอำเภอหนึ่งทุนเดินหน้า พร้อมแก้ปัญหาเดิม"
เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด ควรระบุให้ นร หัวกะทิและมีโอกาสเหล่านั้นกลับมาทำงานชดใช้ทุนให้รัฐบาล มิฉะนั้นจะเป็นแบบรัฐลงทุน แต่เอกชนเอาไปใช้งานเหมือนที่ผ่านๆมา