เจาะโครงการอีราสมุส 2 ขยายทุนถึงป.เอก
สืบเนื่องจากความสำเร็จของโครงการ Erasmus Mundus I (ปีค.ศ 2004 – 2008) ซึ่งได้ให้โอกาสและทุนการศึกษาแก่นักศึกษาจากประเทศที่สาม 4,424 คน
มาศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในยุโรปแล้ว 323 แห่งนั้นคณะกรรมาธิการยุโรปได้ยื่นข้อเสนอโครงการสำหรับปีค.ศ. 2009 – 2013 ปัจจุบันร่างโครงการดังกล่าวกำลังอยู่ในการพิจารณารับรองโดยสภายุโรปและคณะมนตรียุโรป
โครงการ Erasmus Mundus II มีขอบข่ายการดำเนินงานระหว่างปี 2009 – 2013 และได้ขออนุมัติวงงบประมาณจำนวน 950 ล้านยูโร (มากขึ้นกว่า Erasmus Mundus I ซึ่งได้รับงบประมาณจำนวน 230 ล้านยูโร) โครงการ Erasmus Mundus II จะมีกรอบดำเนินงานที่กว้างขวางกว่าโครงการ I มาก โดยได้แบ่งโครงการออกเป็น 3 ส่วน (action) คือ
1) Action I
เป็น Action ที่สืบเนื่องจากโครงการ Erasmus Mundus I คือ การให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาจากประเทศที่สาม รวมถึงประเทศไทย เพื่อศึกษาในระดับปริญญาโท โดยจะต้องเข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษายุโรปอย่างน้อย 3 สถาบัน นอกจากนี้ Action I ยังมีข้อเสนอใหม่ ๆ เพิ่มเติมจาก Erasmus Mundus I คือ
- ให้ทุนการศึกษาในระดับปริญญาเอก (3 ปี) หรือ โท + เอก (2 + 3 ปี) โดยในระดับปริญญาเอก
- สามารถมีอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมกันหลายสถาบันในการทำวิทยานิพนธ์ได้
- เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาจากประเทศนอกสหภาพยุโรปเข้าร่วมได้
- ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการตรวจตราและประกันคุณภาพมากขึ้น
- เน้นหลักสูตรการเรียนแบบสหสาขาวิชา (interdisciplinary) และเน้นเรื่องนวัตกรรม และการมีส่วนร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและสถาบันวิจัย
2) Action II
Action ดัง กล่าว มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษายุโรป กับประเทศที่สาม จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนที่ต่อเนื่องจาก External Cooperation Window หรือ ECW (โครงการเพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในยุโรปและประเทศที่สาม มาแทนที่กรอบ Regional Window ซึ่งมี Thai Window เป็นส่วนหนึ่งด้วย ดูรายละเอียดได้ที่ http://news.thaieurope.net/content/view/2757/166/)
สำหรับกรอบการดำเนินของ Action II นั้น จะเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาของยุโรปสร้างความเป็นหุ้นส่วน และความร่วมมือกับสถาบันในประเทศที่สาม เพื่อถ่ายทอดความรู้และช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พร้อมเสริมสร้างศักยภาพของสถาบันของประเทศที่สามในการมีปฏิสัมพันธ์กับต่าง ประเทศ โดยกิจกรรมความร่วมมืออาจมีได้หลายรูปแบบ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การฝึกอบรม การสอน และการทำวิจัย ตลอดจนการแลกเปลี่ยนนักเรียน และ/หรือ นักวิชาการ
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว จะต้องประกอบด้วยสถาบันอุดมศึกษาในสหภาพยุโรปอย่างน้อย 3 สถาบัน และสถาบันจากประเทศที่สามอย่างน้อย 2 สถาบัน การกำหนดความร่วมมือจะเป็นไปตามนโยบายที่สหภาพยุโรปมีต่อประเทศนั้นๆ และจะให้ความสำคัญกับกลุ่มที่เสียเปรียบด้านสังคมและเศรษฐกิจ และกลุ่มประชาชนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบางเป็นพิเศษ
3) Action III
ใน ส่วนนี้ มีจุดประสงค์ที่จะจัดงบประมาณให้แก่โครงการที่มีจุดประสงค์เพื่อเสริมภาพ ลักษณ์สถาบันอุดมศึกษาในยุโรปน่าดึงดูดขึ้นในประเทศที่สาม และโครงการที่ช่วยเสริมความสามารถในมิติต่างประเทศของสถาบันอุดมศึกษาของ ยุโรป เช่น การรับรองคุณภาพ การรับรองเครดิต (credit recognition) การยอมรับคุณวุฒิ การพัฒนาหลักสูตร
สถานะล่าสุด
เมื่อเดือน กค. 2550 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ยื่นร่างข้อเสนอให้แก่สภายุโรปและคณะมนตรียุโรปพิจารณาและรับรองตามกระบวนการ co-decision
ล่าสุด คือเมื่อเดือนมิย. 51 คณะกรรมาธิการด้านการศึกษาและวัฒนธรรมของสภายุโรปได้ลงคะแนนเสียงรับรองข้อเสนอแก้ไขร่างของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 5 ประเด็น คือ
1) การเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศสมาชิกอำนวยความสะดวกในเรื่องวีซ่า ด้วยการออกวีซ่าพิเศษให้แก่นักเรียนทุน Erasmus Mundus
2) การเสนอให้มีการปรับอัตราเงินทุนให้สะท้อนกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบัน
3) การเรียกร้องให้ประกาศผลทุนเร็วขึ้นกว่าเดิม เพื่อช่วยในเรื่องการบริหารหลักสูตร
4) เห็นว่านักศึกษาควรจะได้ศึกษาภาษาต่างประเทศ 2 ภาษา และ
5) ควรให้ความสำคัญพิเศษกับคนพิการและผู้ที่มาจากครอบครัวที่ยากจนหรือชนกลุ่มน้อย
ทั้งนี้ นาย Vito Borelli เจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการยุโรป DG Education เปิดเผยกับเจ้าหน้าที่ไทยยุโรป.เน็ทว่า น่าจะมีการรับรองโครงการตามกระบวนการ co-decision ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นไป และคาดว่าโครงการดังกล่าวน่าจะได้รับการรับรองภายในสิ้นปี 2551
แหล่งข้อมูล
ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรป http://ec.europa.eu/education/programmes/mundus/doc/com395_en.pdf
ข้อแก้ไขของสภายุโรป http://www.europarl.europa.eu/news/public/story_page/008-32908-182-06-27-901-20080627STO32885-2008-30-06-2008/default_en.htm