มูลนิธินิปปอนให้ทุนวิจัยโครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (หมดเขต 31/8/2011)

สิงหาคม 21, 2011 by: 0
Visit 2,334 views

ทุนมูลนิธินิปปอนเพื่อปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (Nippon Foundation Fellowships for Asian Public Intellectuals)
ให้ทุนโครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (APIFellowships Program) ประจำปี 2012-2013

มูลนิธินิปปอนเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรและเป็นองค์กรให้ทุนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2515 สนับสนุนทุนให้กับโครงการต่าง ๆ ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ (www.nippon-foundation.or.jp/eng)   โครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชียเป็นโครงการให้ทุนแก่ผู้ได้รับคัดเลือกเพื่อสนับสนุนการทำโครงการวิจัยหรือกิจกรรมวิชาชีพในภูมิภาคเอเชีย โดยประเทศสมาชิกโครงการในปัจจุบัน ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย

เป้าหมายของโครงการเอพีไอ
        -สร้างและส่งเสริมชุมชนปัญญาชนสาธารณะในภูมิภาคเอเชีย
        -ส่งเสริมการเรียนรู้ซึ่งกันและกันของปัญญาชนสาธารณะในภูมิภาคเอเชีย        -มีส่วนร่วมในการเติบโตของพื้นที่สาธารณะ อันจะเอื้อให้สามารถกำหนดแนวทางรับมือกับประเด็นปัญหาที่จำเป็นเร่งด่วนของภูมิภาคได้

โครงการที่เสนออาจเป็นได้หลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบงานวิจัย ภาพยนตร์ บทความเชิงข่าว การรวบรวมข้อมูล การสร้างเครือข่าย งานศิลปะ ฯลฯ และเป็นไปตามเงื่อน 3 ข้อดังนี้
        1.ต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของอาชีพหรืองานประจำที่ทำอยู่
        2.ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายและมีหัวข้อตรงกับประเด็นหลักของโครงการเอพีไอ
        3.ต้องมีผลลัพธ์ที่ชัดเจน (ในรูปของงานวิจัย ภาพยนตร์ ภาพถ่ายเล่าเรื่อง และอื่น ๆ)

โครงการเอพีไอแบ่งประเภททุนเป็น 2 กลุ่ม คือ ทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชียระดับอาวุโส และทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย ใช้อายุเป็นเกณฑ์สำคัญ
        ผู้รับทุนจะต้องดำเนินโครงการที่เสนอในประเทศสมาชิกอย่างน้อย 1 ประเทศขึ้นไป แต่ต้องไม่ใช่ประเทศบ้านเกิดหรือประเทศที่ผู้สมัครพำนักอาศัยในปัจจุบัน
        ผู้รับทุนต้องดำเนินการติดต่อสถาบันเจ้าภาพในประเทศที่ต้องการเดินทางไปทำกิจกรรมด้วยตนเอง โดยหน่วยงานเจ้าภาพจะรองรับและสนับสนุนตลอดระยะเวลาที่ผู้รับทุนดำเนินโครงการอยู่ในประเทศนั้น ๆ

ประเด็นหลักของโครงการเอพีไอ คือ 
        -อัตลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในบริบทด้านสังคม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม
        -ข้อพิจารณาเกี่ยวกับสภาวการณ์ของมนุษย์และการแสวงหาความเป็นธรรมทางสังคม
        -โลกาภิวัตน์ : โครงสร้าง กระบวนการ และทางเลือกใหม่
        ในแต่ละปีมีจำนวนผู้รับทุนประมาณ 25-28 ทุน หรือ 4-6 คนในแต่ละประเทศสมาชิก

ทุนเอพีไอให้การสนับสนุนด้านเบี้ยเลี้ยงและค่าเช่าบ้านตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการในต่างประเทศ จำนวนเงินแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและระยะเวลา ค่าเดินทางไป-กลับระหว่างประเทศเพียงครั้งเดียว ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางในประเทศ ค่าใช้จ่ายสำหรับการวิจัย เช่น คอมพิวเตอร์ การลงพื้นที่ หนังสือ และค่าแปลเอกสาร ค่ากรมธรรม์ประกันภัยสำหรับการเดินทางในช่วงเวลารับทุน

คุณสมบัติโดยทั่วไปของผู้สมัครทุนทั้งสองประเภท
- ผู้สมัครต้องถือสัญชาติหรือถือสถานะผู้พำนักอาศัยในประเทศใดประเทศหนึ่งภายในห้าประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ (อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย) และต้องกำลังพำนักอยู่ในประเทศนั้นในระหว่างการสมัครขอรับทุน
- ผู้สมัครต้องมาสัมภาษณ์ตามวัน เวลา และสถานที่ซึ่งกำหนดไว้
- ผู้สมัครต้องเสนอโครงการวิจัยและ/หรือกิจกรรมตามวิชาชีพ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป และควรดำเนินการโครงการให้สำเร็จก่อนสิ้นระยะทุนในวันที่ 31กรกฎาคม พ.ศ. 2555
- ผู้สมัครต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษหรือภาษาในประเทศที่ตนเองจะเดินทางไปดำเนินโครงการวิจัยและ/หรือกิจกรรมตามวิชาชีพ และ
- ผู้สมัครต้องมีฐานการทำงานอยู่ในภูมิภาคหรือในประเทศสมาชิกในปัจจุบันและต่อเนื่องไปในอนาคต
- ภายหลังได้รับเลือกจากโครงการ ผู้รับทุนต้องเข้าร่วมงานปฐมนิเทศในเดือนกุมภาพันธ์/มีนาคม พ.ศ. 2554 ผู้ที่ไม่สามารถเข้าร่วมงานดังกล่าวได้ อาจถูกพิจารณาเพิกถอนสิทธิในการรับทุน

ทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชียระดับอาวุโส
นอกเหนือจากคุณสมบัติโดยทั่วไปดังกล่าวแล้ว ผู้สมัครทุนปัญญาชนสาธารณะระดับอาวุโสจะต้อง
- มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ณ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554 (อาจมีข้อยกเว้นได้บ้างในบางกรณี)
- มีความสามารถและประสบการณ์ที่จะดำเนินโครงการวิจัยและ/หรือกิจกรรมวิชาชีพในประเทศที่เข้าร่วมโครงการฯ (อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย) นอกเหนือจากประเทศบ้านเกิดหรือประเทศที่ผู้สมัครพำนักอยู่ในปัจจุบัน
- สามารถดำเนินโครงการวิจัยและ/หรือกิจกรรมวิชาชีพตามที่เสนอไว้ ในประเทศที่เข้าร่วมโครงการได้มากถึง 4 ประเทศ นอกเหนือจากประเทศบ้านเกิดหรือประเทศที่ผู้สมัครพำนักอาศัย ณปัจจุบัน
- สามารถดำเนินโครงการวิจัยและ/หรือกิจกรรมวิชาชีพตามที่เสนอ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องตั้งแต่ 1-12 เดือน และ
- มีความสามารถ อิทธิพลโน้มน้าว และช่องทางในการเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการวิจัยและ/หรือกิจกรรมวิชาชีพของตนได้

ทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย
นอกเหนือจากคุณสมบัติทั่วไปดังกล่าวแล้ว ผู้สมัครทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชียจะต้อง
- มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ณ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554 (อาจมีข้อยกเว้นได้บ้างในบางกรณี)
- มีความสามารถและปรารถนาที่จะดำเนินโครงการวิจัยและ/หรือกิจกรรมวิชาชีพในประเทศที่เข้าร่วมโครงการฯ นอกเหนือจากประเทศบ้านเกิดหรือประเทศที่ผู้สมัครพำนักอยู่ในปัจจุบัน
- มีศักยภาพสูงในการอุทิศตนและผลงานให้แก่สาขาของตนได้ในอนาคต
- สามารถดำเนินโครงการวิจัยและ/หรือกิจกรรมวิชาชีพตามที่เสนอ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องตั้งแต่ 4-12 เดือน และ
- สามารถดำเนินโครงการวิจัยและ/หรือกิจกรรมวิชาชีพตามที่เสนอในประเทศที่เข้าร่วมโครงการฯ (อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย) อย่างมากที่สุดสองประเทศ นอกเหนือจากประเทศบ้านเกิดหรือประเทศที่ผู้สมัครพำนักอยู่ ณ ปัจจุบัน
เอกสารการสมัคร จัดเตรียมเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษคู่กันทั้งหมด
        1.ใบสมัคร
        2.ประวัติส่วนตัวโดยละเอียดเป็นภาษาอังกฤษ  ไม่ควรยาวเกิน 3 หน้ากระดาษ เกี่ยวกับการศึกษา อาชีพการงาน ผลงานที่ตีพิมพ์ และความสำเร็จด้านต่าง ๆ
        3.จดหมายปะหน้า แนะนำตัวผู้สมัครโดยย่อและเหตุผลที่สนใจสมัครขอรับทุนโครงการเอพีไอ
        4.ข้อเสนอโครงการ ไม่ควรยาวเกิน 5 หน้ากระดาษ (ดูรายละเอียดในเว็บไซต์ทางการ)
        5.จดหมายรับรองสองฉบับ
        สามารถดาวน์โหลดเอกสารการสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.api-fellowships.org

กำหนดการรับสมัคร 
1 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม พ.ศ.2554 โดยจะประกาศผลคัดเลือกอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2555

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
โครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชั้น 3 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 0-2218-7422  โทรสาร 0-2652-5283
ส่งเอกสารประกอบการสมัครที่อีเมล์ api.apply2011@gmail.com 
ส่งคำถามมาได้ที่อีเมล์ api_fellowships@chula.ac.th


About Auther : Webmaster  (439 Posts)

Thai Education Portal


Share this Story

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Translation

Englishภาษาไทย

คำค้น