มองการศึกษาและทุนเรียนAEC(ตอน1)

กรกฎาคม 26, 2012 by: 0
Visit 2,137 views

สิงคโปร์เบอร์หนึ่งในภูมิภาคสวัสดีครับแฟนการศึกษาอินเตอร์ทุกท่าน ขอนำเสนอ Article ในกระแส ASEAN Economic Community ที่กำลังได้รับการกล่าวขานถึงในแวดวงการศึกษาอย่างแพร่หลายในช่วงนี้ เพื่อเป็นพื้นที่หนึ่งที่ให้ความสำคัญกับประชาคมการศึกษาที่รายล้อมประเทศเราเป็นหลัก นอกเหนือจากเรื่องราวการศึกษาต่างประเทศยอดฮิตที่มีการเผยแพร่กันมากอยู่แล้ว ทั้งเรียนต่ออเมริกา แคนาดา ยุโรป ออสเตรเลีย

                ข้อเขียนจะมาจากมุมมองและประสบการณ์ของผู้เขียน ที่เคยได้สัมผัสมา รวมทั้ง Facts ต่าง ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจ และน้อง ๆ ที่กำลังมองอนาคตการศึกษา และโอกาสแห่งความก้าวหน้าของอาชีพการงาน ที่จะต้องเกี่ยวพันธ์กับการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ค.ศ.2015 อีกแค่ 3 ปีเท่านั้นเอง

        กระแส AEC เพิ่งมาคึกคักในแวดวงการศึกษาเมืองไทยเอาช่วง 1-2 ปีนี้เอง ก็คงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เรื่องสำคัญบางเรื่อง มักจะให้ความสำคัญกันก็ต้องรอให้มาใกล้ตัวกันก่อน

วันนี้ ลองมามองภาพรวมของศักยภาพด้านการศึกษาของชาติในภูมิภาคนี้ เสมือนเปิดม่านประเดิมกันเลยนะครับ ในบรรดาชาติสมาชิกทั้ง 10 ชาติของประชาคมนี้ ผมเชื่อว่า หากมองในเรื่อง Quantity หรือปริมาณ ประเทศไทยน่าจะเข้าป้ายอันดับแรก ในเรื่องการมีสถาบันอุดมศึกษาที่พัฒนาเรื่องการเรียนการสอนและมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากที่สุด เพราะแค่มหาวิทยาลัยเราก็มีมากกว่า 150 แห่งแล้ว ยังไม่รวมสถาบันราชภัฎ และระดับวิทยาลัยอีกมากมาย

แต่หากมองไปที่คุณภาพที่เป็นที่ยอมรับในระดับ International กลับปรากฎว่า ชาติเล็ก ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าเกาะภูเก็ตของไทย อย่างสิงคโปร์ ที่มีสถาบันอุดมศึกษาที่โด่งดังไม่กี่แห่ง กลับได้รับการจัดอันดับโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยโลก “universitas 21″ ให้เป็น อันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับที่ 11 ของโลก ขณะที่ไทยอยู่ที่ 8 ของเอเชียเท่านั้น

ตัวชี้วัดเรื่องนี้มาจากหลายด้าน ทั้งการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับในระดับอินเตอร์ บรรยากาศในการเรียนการสอน ผลผลิตทางการศึกษา และครอบคลุมถึงความแตกต่างด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technology University: NTU) รวมทั้ง มหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ (Singapore Management University: SMU) คือ 3 มหาวิทยาลัยที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศเกาะเศรษฐกิจแห่งนี้ และทั้ง 3 ชื่อนี้ก็มีส่วนเปิดพื้นที่ให้กับนักเรียนในภูมิภาคอาเซี่ยนได้ไปสัมผัสประสบการณ์การเรียนม.อินเตอร์คุณภาพในสไตล์สิงคโปร์เป็นประจำทุกปี โดยให้ผ่านทั้งทุนรัฐบาลสิงคโปร์ บ้างก็เป็นทุนโดยตรงของมหาวิทยาลัย

นอกจากแดนลอดช่อง สิงคโปร์ ไทยยังมีคู่แข่งอย่างชาติที่อยู่ติดปลายด้ามขวานทอง อย่าง มาเลเซีย ที่สร้างแผนเป็นฮับการศึกษาในอาเซียนมาหลายปี แต่ยังห่างไกลความสำเร็จ เพราะยอดนักเรียนอินเตอร์ที่เข้าไปเรียนในประเทศ รวมทั้งการยอมรับในระดับนานาชาติ ยังไม่บรรลุเป้าหมาย หากให้เป็น Percentage ก็น่าจะทำได้ในระดับ 70 กว่า ๆ

ผู้เขียนเคยได้รับเชิญไปทัวร์สถาบันอุดมศึกษาในมาเลเซียเมื่อไม่นานนัก ก็ต้องยอมรับว่า เขาพัฒนาไปเยอะทีเดียว ในแง่การศึกษานานาชาติ แต่จะทิ้งประเทศไทย หรือสูสีกัน คงมีรายละเอียดมาเล่าสู่กันในโอกาสต่อไป แต่ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือ ชาติมุสลิมอย่างมาเลเซีย มีภาพการศึกษาอินเตอร์ ที่ดีกว่า อินโดนีเซีย ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้ชื่อว่ามีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก รวมทั้งมาเลเซียเองมีการทำการศึกษาอินเตอร์ที่เปิดกว้างกว่าในแง่ของการเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยจากนานาชาติเข้าไปสร้างแคมปัสสาขาอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นจากออสเตรเลีย หรือ อังกฤษ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งเศรษฐีน้ำมันชาติเล็ก ๆ อย่าง บรูไน ดารุสซาลาม ต่างก็มีทุนการศึกษาให้กับเพื่อนร่วมอาเซียนเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการโปรโมทการศึกษาในชาติของตน

ชาติอื่น ๆ ที่เหลือในประชาคมอาเซียน ดูจะด้อยกว่าไทยชัดเจน และยังแทบไม่มีงบมาสนับสนุนด้านทุนการศึกษาให้เพื่อนร่วมภูมิภาคเลย

 เวียดนาม แม้ได้ชื่อว่า ให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบายพัฒนาการศึกษาของชาติมากที่สุดชาติหนึ่ง มีการให้ทุนรัฐบาลแก่นักเรียนไปเรียนต่อต่างประเทศค่อนข้างมาก แต่ก็ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาสาธารณูปโภคด้านต่าง ๆ และต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะขึ้นมาไล่ไทยหรือมาเลเซีย ส่วนพม่า กัมพูชา ลาว ยังห่างไกล เพราะต้องพัฒนาอีกมาก รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนในชาติเฉลี่ยยังไม่ดี รายได้ต่อหัวก็ต่ำมาก จึงเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ มากกว่าจะแข่งขันกับใคร

ฟิลิปินส์ เป็นชาติที่ดูมีอนาคตมากที่สุด เพราะชาวตากาล็อกโดยเฉลี่ยมีความสามารถทางด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษมาเป็นอับดับ 1  แต่นั้นเป็นชื่อเสียงช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะฟิลิปินส์ไม่สามารถพัฒนาอย่างรวดเร็วเหมือนเพื่อนบ้านหลายชาติ อันเป็นผลมาจากปัญหาภายในหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งความไม่ปลอดภัย เพราะปัญหาผู้ก่อการร้าย ที่ทำให้คนต่างชาติแทบไม่อยากไปเยือนดินแดนหมู่เกาะแห่งนี้

จากที่ดูว่ามีข้อได้เปรียบด้านภาษา ก็เลยเป็นหมันไปโดยปริยาย จนทำให้ฟิลิปินส์ล้าหลังไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย หลายช่วงตัว

 

สมเกียติ เทียนทอง


About Auther : กูรู สมเกียรติ เทียนทอง  (855 Posts)


Share this Story

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Translation

Englishภาษาไทย

คำค้น