พม่าเร่งฟื้นฟูการศึกษาเปิดสถาบันเทคโน2แห่ง
พม่าเร่งพัฒนาประเทศขนานใหญ่ หลังจากทิศทางประชาธิปไตยและการเปิดประเทศสู่โลกกว้างเริ่มสดใส ด้วยการให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น โดยรัฐบาลพม่าจะเปิดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี 2 แห่งในย่างกุ้งและมันดาเลย์ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หลังจากปิดตัวไปมากกว่า 2 ทศวรรษในห้วงรัฐบาลทหารที่เข้มงวด
Aye Myint รัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพม่า เผยว่า มหาวิทยาลัย 2 แห่งคือ
Yangon Technology University (YTU) และ Mandalay Technology University (MTU) รวมไปถึงมหาวิทยาลัยที่เปิดมาภายหลัง อย่าง Yangon Computer University และ Mandalay Computer University
จะเปิดดำเนินการขึ้นมาอย่างเป็นทางการภายใต้“โครงการสร้างศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศ(Centres of Excellence)” เพื่อยกระดับการศึกษาระดับสูงของประเทศ
สำหรับ YTU และ MTU จะเปิดแคมปัสของตนขึ้นมาอีกครั้งที่ย่างกุ้งและมันดาเลย์ตามลำดับ หลังจากถูกปิดไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1988
Aye Myint กล่าวระหว่างการประชุมร่วมกับนักวิชาการ และอาจารย์ในเมือง Naypyidaw ว่า แม้ว่าพม่าจะมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี 33 แห่ง และมหาวิทยาลัยด้านคอมพิวเตอร์ 25 แห่ง แต่ในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ที่จะพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาเหล่านี้พร้อม ๆ กันทั้งหมด จะมีเพียง 4 แห่งเท่านั้นที่รัฐจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการพัฒนาสู่ความเป็น Centres of Excellence ทั้งนี้เพราะมีข้อจำกัดเรื่องของเทคนิก และงบประมาณสนับสนุน
ในพม่า สถาบันเทคโนโลยีจะบริหารงาน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการ โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้กำหนดให้ 4 มหาวิทยาลัย คือ Yangon University, Yangon Institute of Economics, Yangon Institute of Technology และ Mandalay University ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเมือง Mandalay อยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยในโครงการศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศ เพื่อพัฒนาไปสู่ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของต่างประเทศต่อไป แต่ต่อมารัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายเร่งด่วนของประเทศ ที่เน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพทางด้าน Science and Technical Training Programmes ซึ่งจะสามารถผลิตบัณฑิตรุ่นแรกออกมาภายในเวลา 6 ปี
Yangon Technology University
“สถาบันอุดมศึกษา 4 แห่งนี้ จะมุ่งสอนด้วยมาตรฐานการศึกษาระดับนานาชาติ มีวิธีการดำเนินงานที่ได้รับการพัฒนา รวมทั้งอาจารย์ต่าง ๆ ก็จะผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ซึ่งแม้ว่าประเทศเราจะไม่สามารถคาดหวังการยกมาตรฐานสู่ระดับสากลได้ภายใน 5 ปีก็ตาม แต่เราจะพยายามที่จะขึ้นไปเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียนให้ได้ภายใน 5 ปี ในช่วงเริ่มต้น เดือนตุลาคมในปีการศึกษา 2012-2-13 มหาวิทยาลัยทางด้านเทคโนโลยีจะจำกัดจำนวนรับนักศึกษาที่ 250 คนต่อปี ใช้เวลา 6 ปีสำหรับการสร้างผู้จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาทางด้าน Computer จะรับได้ 200 คน” Aye Myint กล่าวเสริม
สำหรับหลักสูตร 6 ปีทางด้านเทคโนโลยีแบบใหม่ของพม่า จะแบ่งเป็น 3 ขั้น เริ่มจาก เรียน 2 ปีแรก จะได้รับ Association of Graduate Technology University degree จากนั้นศึกษาในอีก 2 ปีต่อมา จะได้ Bachelor of technology qualification และหากจบในอีก 2 ปีสุดท้ายจะได้ Bachelor of engineering
ส่วนสาขาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ปกติมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะมีหลักสูตร 4 ปี ซึ่งต้องเรียนวิชาต่าง ๆ จำนวนมาก อย่างไรก็ตามภายใต้ระบบใหม่จะเน้นให้นักศึกษาเรียนวิชาเดียวให้ช่ำชองไปเลย โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 5 ปี
U Phyu Win ผู้บริหารของ Yangon Technology University ให้ทรรศนะว่า การที่พม่าจะก้าวขึ้นไปเทียบเท่ากับมาตรฐานของประเทศอาเซียนอื่น ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเขาไม่คิดว่า คนพม่าสามารถแก้อุปสรรคทางด้านภาษาอังกฤษได้ ดังนั้นการที่จะเป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพที่จะไปแข่งขันกับชาติอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ สิ่งที่นักศึกษาจะต้องทำเป็นอันดับแรกคือ เรียนภาษาอังกฤษ…
แหล่งข่าว : Naw Say Phaw Waa, MYANMAR