นายกฯอภิสิทธิ์เปิดใจชีวิตเรียนอังกฤษ

ธันวาคม 9, 2009 by: 0
Visit 2,059 views

ในบรรยากาศที่ไม่เคร่งเครียดเหมือนในสนามการเมือง  ดังเช่นงาน EducationUK Exhibition 2009 ที่จัดโดยบริติช เคานซิล ซึ่งท่านนายกฯ ได้ไปเปิดใจพร้อมทั้งปาฐกถาในหัวข้อ “International Education for Future Global Citizens and Leaders” ที่ทำให้เยาวชนและผู้ปกครองได้แนวความคิดดีๆ เกี่ยวกับการศึกษา

นายกฯอภิสิทธิ์เปิดใจชีวิตเรียนอังกฤษ

นายกฯอภิสิทธิ์เปิดใจชีวิตเรียนอังกฤษ

                นายกรัฐมนตรีท่านนี้เป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากในเรื่องประวัติการศึกษา แม้แต่บทสัมภาษณ์ในนิตยสาร Forbes Asia เมื่อเร็วๆ นี้ก็ยังเอ่ยถึงในย่อหน้าแรกเลยทีเดียว  นายกฯ อภิสิทธิ์จบประถมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษเพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนสเกทคลิฟ และเรียนต่อที่โรงเรียนอีตัน ก่อนจะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (Philosophy, Politics and Economics, P.P.E.) ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด  กลับมาใช้ชีวิตเมืองไทยไม่กี่ปีก็กลับไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอีกครั้ง 

              “รวมแล้ว ผมใช้ชีวิตที่สหราชอาณาจักรกว่าสิบปี” ท่านนายกฯ กล่าว “เมื่อมองย้อนกลับไป ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีในหลายๆ ประการที่ได้ไปใช้ชีวิตในสหราชอาณาจักร ประการแรกคือภาษาอังกฤษ ด้วยประสบการณ์ส่วนตัว…ผมสามารถยืนยันได้เลยว่าการเรียนภาษาอังกฤษหลังอายุ 12 คุณจะไม่มีทางพูดภาษาอังกฤษได้ดีอย่างคุณควรจะทำได้ และไม่ดีเท่าเจ้าของภาษาแน่นอน  การที่ผมถูกส่งไปอยู่ที่นั่นตั้งแต่อายุ 11 ปีหมายความว่าผมได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากประสบการณ์ตรง และโชคดีที่ผมไม่ได้ลืมภาษาไทย ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับอาชีพในสายการเมือง”

                  “ผมทราบว่าทุกวันนี้คนไทยจำนวนมากส่งลูกๆ เข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติ หรือส่งไปเรียนต่างประเทศโดยคำนึงถึงเรื่องภาษา แต่ความจริงไม่ใช่แค่นั้น การได้ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศจะหล่อหลอมให้คุณมีทัศนคติกว้างไกล รวมถึงทำให้คุณเห็นความสำคัญของความอ่อนไหวและความแตกต่างทางวัฒนธรรม  วิธีที่ดีที่สุดที่จะลดความไม่เข้าใจกันหรือสร้างความเข้าใจอันดีในสังคม ไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าการทำให้เด็กและเยาวชนใช้ชีวิตและเรียนรู้ชีวิตกับคนที่แตกต่างทั้งวัฒนธรรมและเชื้อชาติ”

                   นอกจากข้อได้เปรียบด้านภาษาและวัฒนธรรมแล้ว ท่านนายกฯ ยังชี้แจงว่าการศึกษาในต่างประเทศมีความแตกต่างจากการศึกษาในประเทศอย่างเห็นได้ชัดคือด้านระบบการศึกษา 

                  “การเรียนที่ออกซ์ฟอร์ดเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามาก ที่นั่นไม่ได้เป็นเพียงขุมความรู้หรือสถาบันที่เพียบพร้อม แต่ผมหมายถึงระบบการเรียนการสอน  ผมสามารถบอกได้ว่ามันแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากระบบนั่งเลกเชอร์แบบมหาวิทยาลัยในบ้านเรา  ทักษะที่ผมได้สั่งสมในช่วงเวลานั้นคือการอ่านเร็ว กระบวนการคิด เพื่อที่สามารถแสดงออกและอภิปรายกับเพื่อนและอาจารย์ได้”

                     ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกคนก็คงอยากรู้ว่าด้วยระบบการศึกษาแบบไทย ท่านนายกฯ มีวิสัยทัศน์หรือนโยบายที่จะทำให้นักเรียนไทยเป็นประชากรในยุคโลกาภิวัฒน์ได้อย่างไร 

eduukexhibition400

                 “เป็นความท้าทายที่รัฐบาลต้องปรับปรุงหลักสูตร ซึ่งต้องเป็นใน 2 ทิศทางอย่างเป็นรูปธรรม หนึ่ง คือความจำเป็นที่จะสร้างความตระหนักว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสัมคมโลก สอง คือจากที่เคยเน้นสอนเรื่องวิชาการ เราจะต้องเปลี่ยนให้เป็นการสอน ‘ทักษะการเรียนรู้’  คนที่ประสบความสำเร็จในอนาคตคือคนที่เรียนรู้ได้รวดเร็ว ไม่ใช่คนที่จำสิ่งที่เรียนในโรงเรียนได้”

“รัฐมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะทำให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า ลูกหลานเราจะได้เรียนฟรีตลอดการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ 12 ปี  สำหรับในที่ห่างไกลซึ่งขาดผู้สอนที่ชำนาญในหลายๆ วิชาโดยเฉพาะภาษาต่างประเทศและวิทยาศาสตร์  ผมคิดว่าจะแก้ปัญหาโดยการสร้างเครือข่ายจากโรงเรียนที่มีคุณภาพเป็นศูนย์กลางให้โรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียง  และพยายามที่จะให้องค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการจัดหาทรัพยากร ซึ่งหมายรวมถึงการสร้างบุคลาการครูที่ดีขึ้นเองในท้องถิ่น” 

เพราะการพัฒนามนุษย์เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ย้ำมาโดยตลอด จึงน่ารอดูอย่างมีความหวังว่าการศึกษาไทยในยุคของเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะที่ท่านนายกฯ เคยกล่าวไว้ว่า ไม่มีการลงทุนอะไรที่คุ้มค่าที่สุดเท่ากับการลงทุนในคนของเรา แบบนี้แล้ว…ประเทศไทยก็น่าจะมีอะไรดีๆ รอเราอยู่.


About Auther : Webmaster  (439 Posts)

Thai Education Portal


Share this Story

Comments are closed.

Translation

Englishภาษาไทย

คำค้น