นักเรียนทุน“พรสกล”ทำหน้าที่ที่ออสเตรเลีย
“ดาว”พรสกล ปาณิกบุตร คูรี่ นักเรียนทุน Endeavour Award ที่เพิ่งจบปริญญาเอกที่ University of New South Wales ได้ร่วมทำงานในฐานะ 1 ในเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ในการต้อนรับคณะผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระหว่าง ๒๐ – ๒๒ กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยคณะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ ผู้บริหารโรงเรียนในจังหวัดภาคใต้ และเจ้าหน้าที่จากศูนย์บริหารชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้เดินทางมาศึกษาและเยี่ยมชมการจัดหลักสูตรการศึกษาสำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนมาจากหลากหลายเชื้อชาติและต่างวัฒนธรรม (Multicultural curriculum) ณ หน่วยงานด้านการศึกษาและโรงเรียนในเมืองซิดนีย์ มลรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย
โดยการเยี่ยมชมและศึกษาดูงานดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (Faculty of Law, University of New South Wales) ในการติดต่อประสานงานเพื่อให้ทางคณะผู้แทนได้เข้าฟังการบรรยายและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้อำนวยการฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนของกรมการศึกษาแห่งมลรัฐนิวเซาท์เวลส์ (Department of Education, New South Wales) และเข้าเยี่ยมชมการเรียนการสอนของโรงเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสามแห่ง ได้แก่ โรงเรียนเบลคเฮิรสท์ (Blakehurst High School), โรงเรียนมาเหล็ก ฟาห์ด อิสลามมิก (Malek Fahd Islamic School)และโรงเรียนชายพันช์โบล์ว (Punchbowl Boys High School)
นอกจากนี้คณะผู้แทนยังได้มีโอกาสซักถามนโยบายอื่นๆจากผู้แทนหน่วยงานด้านการศึกษาและผู้บริหารโรงเรียนทั้งสามแห่ง โดยนโยบายที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งได้แก่
๑.นโยบายการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในระหว่างเวลาที่มีการเรียนการสอน (Policy on mobile phone) นักเรียนสามารถนำโทรศัพท์มือถือมาโรงเรียนได้แต่ห้ามนักเรียนเปิดเครื่องโทรศัพท์ในระหว่างเวลาที่มีการเรียนการสอน หากฝ่าฝืนจะถูกอาจารย์ริบเครื่องโทรศัพท์และจะต้องให้ผู้ปกครองมาขอรับคืนจากผู้บริหารโรงเรียนหรืออาจารย์ฝ่ายปกครอง
๒.นโยบายป้องกันไม่ให้นักเรียนรังแกกัน (Anti bullying policy) ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของโรงเรียนในประเทศออสเตรเลีย นโยบายนี้วางกรอบของการลงโทษนักเรียนในกรณีที่มีการรังแกกันอย่างชัดเจน เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจถึงขั้นตอนการลงโทษตรงตามกัน นโยบายนี้ยังกำหนดให้ตำรวจต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนเรื่องการรังแกกัน เพื่อชี้ให้สาธารณชนตระหนักถึงความร้ายแรงของการรังแกกันในโรงเรียนซึ่งหากละเลยไม่แก้ไขและวางมาตรการการลงโทษอย่างเหมาะสมอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา เช่น ประชากรกลายเป็นคนที่มีความกร้าวร้าว
๓.นโยบายต่อต้านการเลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างทางภาษา เชื้อชาติ ศาสนา และความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ (Anti discrimination policy)
คณะผู้แทนยังได้มีโอกาสเยี่ยมชมการเรียนการสอนของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ และบรรยากาศการใช้ชีวิตนักศึกษาร่วมกันของนักศึกษาที่มาจากหลากหลายทางวัฒนธรรมก่อนเดินทางกลับประเทศไทย
No Comments Comments on "นักเรียนทุน“พรสกล”ทำหน้าที่ที่ออสเตรเลีย"
เป็นประโยชน์มากเลยครับ ขอบคุณครับผม