นร.ทุนยุโรป กับ Trick to win scholarship

มกราคม 4, 2010 by: 0
Visit 1,903 views

           จุ๋ม บอกว่า การเรียนระดับปริญญาโทในสวีเดน นักศึกษาไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนเพราะรัฐบาล

 “จุ๋ม”ฉายดรุณ เอี่ยมภักดิ์

“จุ๋ม”ฉายดรุณ เอี่ยมภักดิ์

มีนโยบายอุดหนุนการศึกษา คนสวีเดนจึงมีมาตรฐานการศึกษาสูงและเป็นคนมีคุณภาพ นักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาในสวีเดนก็ได้รับสิทธิประโยชน์นี้ด้วยเช่นกัน ส่วนที่ประเทศเช็ก รัฐบาลก็มีการอุดหนุนการศึกษาเช่นเดียวกัน แต่เป็นการสนับสนุนเฉพาะนักศึกษาเช็กและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปให้เรียนฟรีเท่านั้น

            การเรียนระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย Uppsala ประเทศสวีเดนจะเป็นแบบ serial คือเรียนทีละวิชา ใช้เวลาประมาณวิชาละ 6-8 สัปดาห์ จากนั้นจะสอบวัดผล แล้วจึงเริ่มวิชาต่อไป ข้อดีของการเรียนแบบนี้ คือ ทำให้เรามุ่งเน้นกับวิชาใดวิชาหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนข้อเสีย คือ ชั่วโมงเรียนจะน้อยมากเพียง 3-5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ทำให้เรามีเวลาว่างมากเกินไปจนอาจจะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายและเกียจคร้าน แต่เราสามารถใช้เวลาเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น เดินทางท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้ศิลปะ วัฒนธรรมตามเมืองต่าง ๆ ไปเยี่ยมเยียนบ้านเพื่อนนักศึกษาชาวยุโรปที่มาจากประเทศต่างๆ หางานพิเศษทำซึ่งจะได้ทั้งประสบการณ์และเงินพอเป็นค่าขนมด้วย  

             สิ่งที่น่าสนใจของการเรียนที่สวีเดนคือ การเรียนแบบ independent studies ซึ่งนักศึกษาสามารถเลือกเรียนสาขาวิชาใดก็ได้ที่เปิดสอนโดยไม่จำเป็นต้องเป็นคณะเดียวกัน เช่น เลือกเรียนกฎหมายกับดนตรีเป็นวิชาหลักควบคู่กันไป เป็นต้น และที่สำคัญคือการเรียนที่สวีเดนไม่มีคำว่าสอบตก เนื่องจากเมื่อผลการสอบออกมาแล้วคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ นักศึกษาสามารถขอสอบใหม่ได้จนกว่าจะผ่าน ซึ่งผลการสอบที่ผ่านเท่านั้นจะไปปรากฏใน transcript

              ส่วนวิธีการเรียนที่มหาวิทยาลัย Palacky ประเทศเช็กจะเป็นแบบ parallel เหมือนที่เรียนกันในประเทศไทย คือ เรียนทีละหลายวิชาพร้อมกัน แล้วไปสอบเก็บคะแนนปลายภาคในเวลาใกล้เคียงกัน ภาคการศึกษาหนึ่งใช้เวลาประมาณ 14-15 สัปดาห์ ข้อดีของการเรียนแบบ parallel คือ ทำให้เราตื่นตัวอยู่เสมอเนื่องจากอาจารย์จะสั่งการบ้านพร้อมกันหลายวิชาและกำหนดส่งในเวลาใกล้เคียงกัน เราจึงต้องจัดตารางการทำงานและวางแผนให้ดี ส่วนข้อเสีย คือ เราจะมีเวลาว่างน้อยเมื่อเทียบกับการเรียนแบบ serial โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัย Palacky ที่จุ๋มเรียนอยู่ อาจารย์จะมีการบ้านให้กลับไปทำเสมอ

         สิ่งที่น่าสนใจของการเรียนที่เช็ก คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์จะมีความเป็นกันเองมาก เมื่อเรียนเสร็จแล้วอาจารย์ก็อาจจะไปปาร์ตี้กับลูกศิษย์ต่อ หรือเมื่อมีการจัด discussion class อาจารย์จะจัดให้ไปเรียนกันที่คาเฟ่หรือผับ ระหว่างที่มีการถกเถียงกัน ทั้งอาจารย์และลูกศิษย์ก็ดื่มเบียร์ไปด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเองก็มีการจัดกิจกรรมร่วมกับนักศึกษาต่างชาติเพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างกัน เช่น การจัดปฐมนิเทศให้กับนักศึกษาต่างชาติ การจัดปาร์ตี้อาหารและเครื่องแต่งกายประจำชาติ เป็นต้น สำหรับการเรียนในชั้นเรียนนั้นนอกจากวิชาหลักที่ต้องเรียนแล้ว ยังมีวิชาที่น่าสนใจให้เลือกเรียนได้ตามความสามารถโดยไม่ต้องสอบ เพียงแต่ให้ทำรายงานแสดงความเข้าใจของเราต่อวิชานั้นๆ ก็พอ จุ๋มเองยังมีโอกาสเลือกลงวิชา Magic and Witchcraft in Early Modern Europe เลยค่ะ

          ความคล้ายคลึงกันของการเรียนทั้งสองประเทศโดยประเมินจากหลักสูตร Euroculture ที่จุ๋มเรียนอยู่ซึ่งเป็นทางด้านสังคมศาสตร์ อาจารย์จะเน้นการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียน โดยจะกำหนดให้ไปอ่านบทความและทำความเข้าใจกับเนื้อหาล่วงหน้าเพื่อนำมาถกเถียงกันในชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นานๆครั้งอาจารย์จะบรรยายภาพรวมของเนื้อหาคร่าวๆ แล้วให้เราไปศึกษาและค้นคว้าเพิ่มเติม ซึ่งต่างกับการเรียนที่เมืองไทยซึ่งอาจารย์จะเน้นการบรรยายเป็นหลัก

             ส่วนเรื่องนิสัยใจคอของคนสวีดิชกับคนเช็กก็มีความแตกต่างกันบ้าง คนสวีดิชมองจากภายนอกจะดูเป็นคนเก็บตัว (reserved) และมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก (individualistic) เนื่องมากจากภาพอากาศที่หนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปีและวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร เมื่อเจอกันชาวสวีดิชจะทักทายว่า “Hej!” แต่ก็จะไม่ถามต่อว่าสบายดีหรือเปล่า เพียงทักกันหนึ่งคำแล้วก็เดินจากไป ในช่วงแรกจุ๋มก็ไม่ค่อยกล้าที่จะคุยด้วยมากนัก แต่พอได้รู้จักกันมากขึ้นแล้วชาวสวีดิชเป็นคนที่น่ารัก จริงใจ ตรงต่อเวลา รักธรรมชาติ และเคารพสิทธิส่วนบุคคล ที่น่าประหลาดใจคือความขี้อายของคนสวีดิชซึ่งทำให้ชาวต่างชาติที่อยากจะมีเพื่อนสวีดิชจะต้องเป็นฝ่ายรุกก่อนเสมอไป                          

           ขณะที่คนเช็กภายนอกจะดูเป็นคนเย็นชาและเคร่งเครียดเนื่องจากไม่นิยมแสดงออกถึอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากสมัยที่เช็กอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็ดูจะเป็นมิตรมากขึ้นเพราะสามารถใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกันได้ แต่สำหรับคนรุ่นเก่าไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ จุ๋มจึงไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดของพวกเขามากนัก โดยรวมแล้วคนเช็กเป็นคนที่เก็บอารมณ์ ขยันขันแข็ง (ตื่นเช้ามากและเริ่มทำงานกันตั้งแต่ 7 โมง) มีระเบียบวินัย มีน้ำใจ และชอบทำอะไรเป็นหมู่คณะ (collective) สังเกตได้จากการใช้ชีวิตในหอนักศึกษามหาวิทยาลัยแทบจะไม่มีห้องเดี่ยวเลย

             ชาวสวีดิชพูดภาษาอังกฤษได้ดีราวกับเจ้าของภาษา และเมื่อเราสื่อสารกันได้เข้าใจ เรื่องอะไร ๆ ก็ทำความเข้าใจกันได้ง่าย และสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนจนอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน และคนสวีเดนก็เป็นคนที่มีความเอื้อเฟื้อสูง สวีเดนเป็นประเทศเปิดที่มีชาวเอเชียอาศัยอยู่มากทำให้หมดปัญหาเรื่องอาหารการกินที่หาซื้อได้ทั้งเครื่องปรุงและอาหารสำเร็จรูปจากแม่บ้านคนไทย ตุรกี หรืออาหรับที่นำมาขายที่ตลาดนัดในเมือง ในมหาวิทยาลัยก็มีนักศึกษาไทยอยู่มากจึงไม่เหงา การคมนาคมและการติดต่อสื่อสารสะดวกสบาย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีสูง เว้นแต่เราจะเผอเรอเอง แม้อัตราค่าครองชีพจะสูงมากแต่การใช้ชีวิตในกรอบของนักศึกษาและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากสถานะภาพนักศึกษาจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมาก

            แนะนำนักเรียนทุนรุ่นน้อง อย่างแรกเลยคือ “เตรียมใจ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศมาก่อน เนื่องจากเราจะต้องเจอกับประสบการณ์แปลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “culture shock” ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ในสังคมที่แตกต่างออกไป วิธีคิดที่เราอาจมองว่าแปลก ภาษาประจำชาติที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ สภาพอากาศที่หนาวเย็น อาหารการกิน วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และค่านิยมในสังคมนั้นๆ ทางที่ดีคือควรจะหาข้อมูลพื้นฐานของประเทศและเมืองที่เรากำลังจะไปเรียนโดยสามารถหาได้จากเว็บไซต์ต่างๆ และโดยปกติผู้ประสานงานของมหาวิทยาลัยของแต่ละหลักสูตรจะจัดส่งเอกสารข้อมูลพื้นฐานของประเทศ เมือง มหาวิทยาลัยที่จะเข้ารับการศึกษา ตลอดจนข้อแนะนำต่างๆ ในการใช้ชีวิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นๆ มาให้ก่อนที่จะเดินทาง

           สิ่งสำคัญที่สุดคือขอให้เป็นคน open-minded พร้อมที่จะเปิดรับเพื่อนใหม่และประสบการณ์ใหม่ๆ อย่าเคร่งเครียดกับการเรียนเพียงอย่างเดียวมากจนเกินไป ประสบการณ์การใช้ชีวิตนักศึกษาในยุโรปเป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ เพราะเมื่อได้รับโอกาสในการมาเรียนต่อในยุโรปด้วยทุน Erasmus Mundus แล้ว เราสามารถใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์อย่างมากที่สุด ประการถัดไปคือ “เตรียมตัว” ซึ่งควรเพิ่มทักษะด้านภาษาที่จะใช้ในการเรียน โดยเฉพาะการฟังและการพูด ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในห้องเรียนที่ต้องมีเสนอความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการพิจารณาให้ทุนนี้ส่วนใหญ่ไม่มีการสัมภาษณ์จึงอาจทำให้ผู้ได้รับทุนบางรายบกพร่องในประเด็นนี้

       “เงินสำรองจ่าย” สำหรับทุกสิ่งรวมถึงค่าเครื่องบินและค่าใช้จ่ายต่างๆ จนกว่าจะลงทะเบียนเป็นนักศึกษาตามที่ได้รับทุนแล้ว มหาวิทยาลัยเจ้าของหลักสูตรจึงจะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารของนักศึกษาผู้ได้รับทุน

        การยื่นขอ “วีซ่า” เข้าประเทศที่จะไปศึกษามักเป็นปัญหาเสมอๆ เนื่องจากทางสหภาพยุโรปแจ้งผลเป็นทางการให้แก่ผู้ได้รับทุนค่อนข้างกระชั้นชิดกับเวลาเปิดภาคการศึกษา และผู้ได้รับทุนต้องยื่นขอวีซ่าอย่างน้อย 2 ประเทศพร้อมๆ กัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ได้รับทุนต้องติดต่อใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้รับเอกสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว เพื่อยื่นประกอบการขอวีซ่าจากสถานทูตในประเทศไทย

            เคล็ดลับพิชิตทุน ศึกษาข้อมูลหลักสูตรที่เปิดรับสมัครล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ลองดูคร่าวๆ ก่อนว่าหลักสูตรที่เราสนใจมีอะไรบ้างและคุณสมบัติที่เรามีอยู่สามารถสมัครได้หรือไม่ หากขาดคุณสมบัติอันไหน เช่น ผลทดสอบภาษา (IELTS หรือ TOEFL) ก็จะได้มีเวลาเตรียมตัวไปสอบให้เรียบร้อย เมื่อถึงเวลาที่เปิดรับใบสมัครจะได้มีเวลาเตรียมเอกสารทุกอย่างให้ครบถ้วน หรือกรณีที่บางประเทศในยุโรปอาจระบุให้มีการแปลเอกสารเป็นภาษาประจำชาติ นอกจากภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจใช้เวลาดำเนินการนานพอสมควร เราก็จะได้มีเวลาเตรียมตัวเอกสารนั้นๆ ได้ทันเวลา ที่สำคัญคืออย่ารอเวลา เนื่องจากหลักสูตรที่เปิดรับสมัครส่วนมากจะไม่มีการสัมภาษณ์ ขั้นตอนการคัดเลือกผู้ได้รับทุนจึงมักขึ้นอยู่กับเอกสารประกอบการสมัครเป็นหลัก เตรียมเอกสารให้ครบ ฝึกเขียน motivation letter ให้ได้ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องยาวหลายหน้ากระดาษ แต่ขอให้ระบุชัดเจนถึงคุณสมบัติของตนเองและสิ่งที่เราคาดหวังจะได้ประโยชน์จากหลักสูตรที่เลือก

           หลายหลักสูตรจะเปิดโอกาสให้เลือกประเทศที่เราต้องการจะไปเรียนได้ ดังนั้นเราควรหาข้อมูลเบื้องต้นของประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ วัฒนธรรม ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงค่าครองชีพ ที่สำคัญคือควรศึกษาข้อมูลของมหาวิทยาลัยในประเทศนั้นๆ ด้วยเพื่อประกอบการตัดสินใจ…


About Auther : Webmaster  (439 Posts)

Thai Education Portal


Share this Story

Comments are closed.

Translation

Englishภาษาไทย

คำค้น