ดร.สุรินทร์ ชี้อุดมศึกษาไทยต้องเร่งพัฒนาคน เตรียมแข่งขันในตลาดอาเซียน

มกราคม 15, 2012 by: 0
Visit 2,328 views

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เตือนอุดมศึกษาไทยต้องเร่งพัฒนานิสิตนักศึกษาพร้อมแข่งขันกับคน 600 ล้านคน ย้ำผู้บริหารด้านการศึกษาต้องผลักดันการผลิตทรัพยากรบุคคลของประเทศอย่างจริงจัง ในการแสดงปาฐกถาพิเศษในที่ประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี 2554 เรื่อง “การเตรียมการอุดมศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน” จัดโดยมหาวิทยาลัยรามคำแหง และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันการแข่งขันในเวทีโลกนั้นสูงมาก การศึกษาเป็นหัวข้อหนึ่งที่อาเซียนให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะจะเป็นกลไกหรือเครื่องมือสำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน  เพราะถ้าคนในประเทศสมาชิกคิดว่าตัวเองยังเป็นเชื้อชาติของตนเอง อาเซียนก็เกิดไม่ได้ เราต้องคิดถึงอัตลักษณ์อาเซียน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการเรียนรู้แลกเปลี่ยนและพัฒนาร่วมมือกัน ขณะนี้ประเทศคู่ค้าของอาเซียนต่างสนใจที่จะมาลงทุนอาเซียนมูลค่าในแต่ละปีสูงมาก เพราะอาเซียนมีประชากรถึง 600 ล้านคนสูงกว่าอียูมาก แต่ประชาคมอาเซียนจะไม่เกิดขึ้น ถ้าคนในแต่ละประเทศสมาชิกไม่เกิดความรู้สึกเป็นอาเซียนระหว่างกัน นี่คือภารกิจของอาเซียน

เลขาธิการอาเซียน กล่าวต่อไปว่า อาเซียนมีความใฝ่ฝันว่าจะเป็นหนึ่งเดียวในปี 2015(พ.ศ.2558) แต่ความแตกต่างระหว่างประเทศสมาชิกยังสูงมาก โดยเฉพาะช่องว่างทางเศรษฐกิจ สิ่งนี้ท้าทายอาเซียนในการเข้าสู่ประชาคมร่วมกัน เพราะไม่มีเครื่องมือใดดีไปกว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือให้การศึกษาแก่พลเมืองของตน ถ้าทรัพยากรมนุษย์ไม่พร้อม ทุนที่จะมาลงในอาเซียนก็อาจจะมีปัญหาได้ ขณะนี้ทุกประเทศต้องฝึกพูดภาษาตลาดเพื่อบอกนักลงทุนว่าขามาลงทุนแล้วได้กำไรเท่าไหร่บ้าง ในถนนธุรกิจของแต่ประเทศ คนที่จบออกมาต้องสามารถเป็นบุคลากรที่เชื่อมโยงตลาดในและตลาดนอกประเทศได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเน้นที่หัวใจของอาเซียน คือ การศึกษานั่นเอง

ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า ประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม ไม่เหมือนประเทศในยุโรปที่มีภูมิหลังเดียวกัน ความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ทำให้คนในอาเซียนรีรอที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องภายในแต่ละประเทศ การเป็นประชาคมของคน 600 ล้านคนจึงต้องลงทุนลงแรงและร่วมมือกันอย่างจริงจังมากซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

สิ่งที่เลขาธิการอาเซียนอยากเห็นความร่วมมือในอาเซียน ประการแรกคือ อะไรที่ทำได้ให้ทำก่อน หลายอย่างที่อาจจะมีปัญหา เช่น ตารางเปิดเรียนพร้อมกัน ถ้ารอว่า ปฏิทินการศึกษาตรงกันก็จะยาก แต่สิ่งที่เราต้องการคือการเรียนรู้ระหว่างกัน เช่น หลักสูตรนานาชาติ อาจปรับเพื่อเกื้อกูลตลาดอาเซียนที่ต้องการเข้ามาศึกษาก่อน ประการที่สองการเปิดกว้างโดยเฉพาะสาขาวิชาต่างๆที่เปิดสอนให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกันมากขึ้น ประการที่สามรัฐบาลต้องเห็นว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญของประเทศ โดยจัดสรรงบประมาณ จัดบุคลากรให้ สนับสนุนการเรียนการสอนสาขาวิชาต่างๆอย่างเพียงพอประการที่สี่ ในสาขาวิชาที่อาเซียนให้การรับรองแล้วว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละประเทศสามารถออกไปหางานทำในประเทศสมาชิกได้นั้น เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ วิศวกรรม การโรงแรม การท่องเที่ยว รวม 8 สาขานั้น คุณภาพต้องเป็นหนึ่งเหมือนกัน และข้อสำคัญต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารระหว่างกันได้อย่างดีด้วย

ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า วิชั่นของอาเซียนนี้ ต้องบอกกล่าวไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองและนักเรียนด้วย เพราะอนาคตการเคลื่อนย้ายไปสู่ประเทศในภูมิภาคเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก เพราะถ้าเราสามารถชนะในอาเซียนได้เราก็จะสู่สากลได้ ข้อสำคัญเราต้องมีความเป็นเลิศ ต้องเป็นหนึ่ง เพราะเราขายทักษะความรู้ของเรา ต่อไปการผลิตบัณฑิตของแต่ละมหาวิทยาลัยทั้ง 8 สาขาวิชานี้ เราไม่ได้ผลิตเพื่อคนในประเทศแต่เราต้องผลิตให้แก่คน 600 ล้านด้วย

เลขาธิการอาเซียนกล่าวด้วยความกังวลใจว่าอนาคตประเทศไทยกำลังย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุประชากรรุ่นใหม่จะน้อยลง การผลิตสินค้าต่างๆต้องคิดถึงการส่งออกไปต่างประเทศ จึงขอฝากให้ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาต่างๆให้ฝึกทักษะภาษาอังกฤษแก่บัณฑิตมากขึ้น เพราะขณะนี้ไทยยังแพ้ประเทศในอาเซียนหลายประเทศ ต่ำกว่ามาเลเซีย และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ไทยยังมีปัญหาเรื่องคอรัปชั่นติดอันดับด้วย จึงขอฝากให้พิจารณาถึงการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและมีค่านิยมที่ถูกต้อง ความเจริญของประเทศต้องเป็นธรรมและนำไปสู่ความเจริญที่เผื่อแผ่  สังคมของประเทศนั้นจึงจะราบรื่น

ก่อนจบปาฐกถา ดร.สุรินทร์ ฝากถึงคนไทยทุกคนว่าขอให้คนไทยตระหนักว่าเราเป็นอาเซียนด้วยกัน เราจึงมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น และถ้าคุณภาพคนของเราพร้อม และแข่งขันกันแล้วสามารถเอาตัวรอดได้ สู้เขาได้  การผลิตบัณฑิตให้จบไปก่อนตามแบบเดิมไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะจากนี้ไป เราไม่ได้แข่งขันในบริบทไทยเท่านั้น แต่เราต้องออกไปแข่งขันข้างนอกประเทศด้วย มาตรฐานการศึกษาจึงต้องมุ่งที่ประสิทธิภาพจริงๆ และอยากบอกว่าปัจจุบันนี้ภาคเอกชนได้ตื่นตัวไปก่อนหน้าแล้วนี้ ภาคเอกชนจะเป็นหนึ่งไม่ได้ ถ้าไม่มีบรรยากาศรอบๆที่ช่วยให้เขาแข่งขันต่อไปได้ คนช่วยคือสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ นี้เอง ในฐานะผู้ผลิต เป็นกัปตันหรือศูนย์หน้าให้ภาคเอกชน ถ้าสถาบันอุดมศึกษาต่างๆพร้อมออกไปแข่งขัน เชื่อว่า ทุกองคาพยพของสังคมไทยจะต้องสนับสนุนอย่างแน่นอน แม้เราจะมีสิ่งท้าทายมากมาย และสิ่งกดดันจากทุกทิศ แต่การบริหารจัดการให้ถูกต้อง ลดคอรัปชั่น เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันแล้ว เชื่อว่า ไทยจะสามารถแข่งขันได้ทั้งในอาเซียนและตลาดโลกอย่างแน่นอน


About Auther : Webmaster  (439 Posts)

Thai Education Portal


Share this Story
Categories
ไม่มีหมวดหมู่  
Tags

Comments are closed.

Translation

Englishภาษาไทย

คำค้น