“ซูจี”เชื่อการศึกษาพม่าจะเจริญคู่กับเสรีภาพ

ตุลาคม 12, 2012 by: 0
Visit 1,751 views

AUNG SAN SUU KYI เจ้าของรางวัล Nobel Peace Prize ในปีค.ศ.1991 เชื่อว่าการเรียนรู้มีความหมายที่กว้างไกลมากกว่าการเป็นสิ่งที่ได้มาจากสถาบันหรือจากอาจารย์ผู้สอน แต่มันหมายถึงกระบวนการของการได้ความรู้และประสบการณ์ที่จะช่วยให้เรารับมือกับความท้าทายที่เข้ามาสู่ชีวิตเรา และมันยังช่วยเพิ่มพูนความมั่นคงในการดำรงอยู่ต่อไป เฉกเช่นมนุษย์ที่ต้องอยู่คู่กับโลกใบนี้ เธอยังเชื่อมั่นว่า วันแห่งชัยชนะในเรื่องการศึกษาในพม่าจะมาถึงในอีกไม่นาน เมื่อนั้นการศึกษาของพม่าจะมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกอย่างแท้จริง หากวันนั้นมาถึงจะถือเป็นวันที่ประเทศเจริญรุ่งเรืองไปด้วยผู้ที่มีความรู้ความสามารถและคุณธรรม

ออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านที่กำลังเป็นที่จับตามองในเวทีโลกกับบทบาทที่โดดเด่นของเธอ หลังจากเดินทางไปยังหลายประเทศ นับจากได้อิสระภาพจากการโดนกักบริเวณมานาน โดยเธอได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการศึกษาที่น่าสนใจมากครั้งหนึ่ง เมื่อครั้งเธอได้มีโอกาสบรรยายพิเศษแก่นักวิชาการและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฮ่องกง โดยผ่านวีดีโอลิงก์มาจากนครย่างกุ้ง เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้นเป็นโอกาสพิเศษในวาระครบรอบ 100 ปี ของ University of Hong Kong พอดี

ใจความที่สำคัญของการบรรยายครั้งนี้ มีสิ่งที่น่าสนใจหลายประเด็น ในเรื่องสถานะของประชาชน ซูจีบอกว่า ประชาชนไม่ควรถูกแบ่งเป็นคนดีคนเลว คนฉลาดหรือคนโง่ ถ้าจะให้ดูมีเหตุผลหน่อยควรชี้ว่า ผู้ที่มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา และผู้ที่ยังไม่ได้รับโอกาสในการศึกษา

เมื่อมองในแง่ผู้ได้รับการศึกษาสูงสุด การศึกษาควรทำให้เรามีความใส่ใจและรับผิดชอบกับประชาคมโลกด้วย สามารถทำให้เรารู้จักใช้วิถีทางที่ชาญฉลาดในการสื่อสารถึงเรื่องที่สำคัญและมีความจำเป็นที่สามารถรับรู้ได้ถึงกัน

สำหรับความรู้สึกต่อการศึกษาในพม่า เธอกล่าวว่า ตนเองรู้สึกเศร้าใจทุกครั้งเมื่อนึกถึง โดยเฉพาะเมื่อเห็นความก้าวหน้าในการศึกษาของชาติในเอเชีย และที่อื่น ๆ

ซูจีได้พูดถึงมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของพม่า คือมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาภายหลังมหาวิทยาลัยฮ่องกง เพียง  10 ปี โดยเกิดจากการควบรวมกิจการของ Rangoon College and Judson College, the Baptist college โดยมหาวิทยาลัยย่างกุ้งไม่เพียงเป็นสถานที่บ่มเพาะปัญญาชนหนุ่มสาวพม่า แต่ยังเป็นที่ที่สร้างกลุ่มคนที่มุ่งช่วยปลดปล่อยชาติจากการเป็นอาณานิคมของต่างชาติ ที่นี่มักเป็นแนวหน้าของการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเสมอภาคและความยุติธรรมเสมอ ในอดีตการเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็มักได้รับการสนับสนุนและเข้าร่วมจากนักศึกษาของ Mandalay University รวมทั้งโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ในพม่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองกับเรื่องของนักศึกษา กลายเป็นวัฒนธรรมเคียงคู่กัน โดยทุกครั้งที่มีการปกครองเบ็ดเสร็จโดยระบอบทหาร นักศึกษามักเป็นกลุ่มคนที่ออกมาประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นพวกแรกเสมอ เพราะสิ่งที่ตามมาจากการปกครองแบบเผด็จการก็คือ เสรีภาพทางความคิด การแสดงออก การชุมนุมต่าง ๆ จะโดนจำกัดทันที

ซูจีชี้ว่ากว่า 20 ปีที่ผ่านมา จุดมุ่งหมายในการได้มาซึ่งประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของนักศึกษาก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ในขณะเดียวกันมาตรฐานการศึกษาในทุกระดับมีแต่ลดลง ซ้ำร้าย สิ่งที่แทบไม่น่าเชื่อก็คือนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในปีค.ศ.1988 ถึงขณะนี้ก็ยังถูกจองจำอยู่ในคุกอย่างไร้อนาคต
ซูจีน ย้ำว่าในความเป็นจริงทุกคนควรเข้าถึงระบบการศึกษา ไม่ใช่ให้สิทธิเฉพาะบางกลุ่มคนเท่านั้น การศึกษาควรส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และนำพวกเขาไปสู่ความก้าวหน้าในแนวทางที่สร้างสรรค์

          การศึกษายังควรเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริง เพราะมนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ และเสรีภาพที่จะทำได้ ไม่ใช่เครื่องจักรกล ที่ต้องทำตามคำสั่งอย่างเดียว


About Auther : กูรู สมเกียรติ เทียนทอง  (855 Posts)


Share this Story

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Translation

Englishภาษาไทย

คำค้น