“ชีวิตที่ไร้เพื่อนสนิท”ในอเมริกา
การรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาสู่รั้วมหาวิทยาลัยของอเมริกานั้น มักมีอุดมคติบนความคาดหวังว่า นักศึกษาต่างแดนที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาใช้ชีวิตร่วมกัน จะก่อให้เกิดมิตรภาพข้ามพรมแดน ซึ่งก็รวมทั้งกับนักศึกษาอเมริกันเองด้วย อีกทั้งทำให้มีความก้าวหน้าในชีวิต มีการเชื่อมต่อหรือสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ไปยังอนาคต
อย่างไรก็ตามจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ล่าสุด กลับพบว่า มันไม่ได้เป็นอย่างที่คิดซะแล้ว เพราะนักศึกษาต่างชาติจำนวนมากไม่สามารถหาเพื่อนชาวอเมริกันได้เลย
การวิจัยซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ใน The Journal of International and Intercultural Communication
พบว่าเกือบร้อยละ 40 ของนักศึกษาต่างชาติไม่มีเพื่อนสนิทเป็นชาวอเมริกันเลย ทั้งที่รายงานเผยว่า นักศึกษาต่างชาติเหล่านี้ล้วนต้องการสร้างปฎิสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้ที่เกิดในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามผลการศึกษาได้คำตอบที่แตกต่างกันไปจากนักศึกษาที่ตอบแบบสอบถาม โดยมีปัจจัยสำคัญ 2 อย่างที่เป็นตัวแปร คือ ถิ่นฐานของนักศึกษาว่ามาจากภูมิภาคใดของโลก และส่วนต่าง ๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่พวกเขาไปอาศัยเล่าเรียน
นักศึกษาต่างชาติที่อยู่ในภาคใต้ของสหรัฐมักมีเพื่อนชาวอเมริกันมากกว่า และมีความพึงพอใจกับมิตรภาพของพวกเขามากกว่าผู้ที่อยู่ในส่วนอื่นของประเทศ ขณะที่ผู้ที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามเขตปริมณฑลมีสถิติเป็นอันดับสอง ส่วนที่มีเพื่อนน้อยสุด เป็นพวกที่เรียนอยู่ในพื้นที่ของมหานครนิวยอร์ก
ปัญหาการสื่อสารดูเหมือนจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการเป็นตัวชี้บอกถึงระดับของมิตรภาพ นักศึกษาต่างชาติจากประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ส่วนใหญ่มักมีเพื่อนสนิทชาวอเมริกัน 3 คนขึ้นไป ขณะที่นักศึกษาจากเอเชียตะวันออกดูเหมือนว่าจะอยู่ภาวะตรงกันข้ามคือหาเพื่อนอเมริกันไม่ได้เลย
เกือบครึ่งหนึ่งของนักเรียนต่างชาติอ้างว่าปัญหาการหาเพื่อนอเมริกันยาก น่าจะเกิดจาก”ปัจจัยภายใน” เช่นความไม่แคล่วคล่องในภาษาอังกฤษ หรือไม่ก็เป็นคนขี้อาย โดยเฉพาะหากเป็นพวกที่มาจากเอเซียตะวันออก มีถึงเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เชื่อว่าการไม่มีเพื่อนชาวท้องถิ่นเกิดจากปัญหาภายในของนักศึกษาต่างชาติเอง ถึงกระนั้นก็มีการวิจารณ์ถึงปัจจัยจากฝ่ายอเมริกันด้วยเช่นกัน ว่า นักศึกษาอเมริกันมักเป็นพวกแสดงความเย็นชากับคนต่างแดน หรือไม่ก็ขาดความสนใจในวัฒนธรรมของชาติอื่น ๆ
การศึกษาครั้งนี้ ดำเนินการโดย Elisabeth Gareis ซึ่งมีตำแหน่งเป็น Associate professor of communication studies at Baruch College of the City University of New York เธอชี้ว่าผลการค้นพบเหล่านี้ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับความสุขของนักศึกษาต่างชาติ แต่ยังมีผลต่อโอกาสในการประสบความสำเร็จทางวิชาการอีกด้วย มันเป็นตัวที่สามารถชี้วัดถึงความพึงพอใจ ในการใช้ชีวิตยังต่างแดนของนักศึกษาเหล่านี้ที่มีต่อคนที่เป็นเจ้าบ้าน หรือคนท้องถิ่น
Elisabeth ทิ้งท้ายว่า หากมิตรภาพเบ่งบาน นักเรียนต่างชาติก็จะพัฒนาทักษะทางภาษามากขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลดีตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนดี มีความเครียดน้อย และปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ได้ดีกว่าด้วยเช่นกัน…
แหล่งข่าว : By Scott Jaschik /www.insidehighered.com / June 14, 2012