การลงนามในความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย-ไต้หวัน

ตุลาคม 28, 2011 by: 0
Visit 1,276 views

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  เสนอดังนี้

1. การลงนามความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย-ไต้หวัน ระหว่างสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยประจำไทเปและสำนักงานเศรษฐกิจวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย (Agreement on Educational Cooperation between the Thailand Trade and Economic Office in Taipei and the Taipei Economic and Cultural Office in Thailand)

2. ให้หัวหน้าสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยประจำไทเปเป็นผู้แทนฝ่ายไทยลงนามในความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย-ไต้หวันร่วมกับผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย

3. ให้ ศธ. เปลี่ยนแปลงถ้อยคำในความตกลงดังกล่าวเท่าที่จำเป็น  ซึ่งจะไม่ทำให้สารัตถะในความตกลงดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป

4. ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ศธ. เป็นหน่วยรับผิดชอบการดำเนินการภายใต้ความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย-ไต้หวัน

สาระสำคัญของเรื่อง

ศธ. รายงานว่า

1. กระทรวงการศึกษาไต้หวันได้มีการตกลงว่า  จะให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกแก่บุคลากรทางการศึกษาของไทยเป็นจำนวน 600 ทุน ภายในระยะเวลา 5 ปี ทุนการศึกษาในไต้หวันดังกล่าวจะครอบคลุมทุกสาขาวิชาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศไทย  รวมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และผู้รับทุนจะเข้าศึกษาในสาขาวิชาที่สถาบันอุดมศึกษาไต้หวันมีความเข้มแข็งทางวิชาการ  และเป็นการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยร่วมกัน ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวฝ่ายไต้หวันจะรับผิดชอบค่าธรรมเนียมการศึกษา ส่วนฝ่ายไทยจะร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางระหว่างประเทศ ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายส่วนตัวของผู้รับทุน

2. ภายใต้หลักการ “จีนเดียว” ประเทศไทยไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน  แต่อย่างไรก็ดี ไทยสามารถมีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ วิชาการ วัฒนธรรม และสังคมกับไต้หวันได้ ดังนั้น ความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย-ไต้หวัน จึงไม่น่าจะมีข้อแย้งในประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไต้หวันภายใต้หลักการ “จีนเดียว” และเป็นความตกลงที่น่าจะสนับสนุนได้  เพราะฝ่ายไทยจะได้รับประโยชน์ในการพัฒนาวงการศึกษาไทย  และเป็นประโยชน์ต่อนักวิชาการ นักศึกษาและนักวิจัยไทย

3. วัตถุประสงค์ของความตกลงนี้กำหนดให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยและไต้หวันมีความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ดังนี้

3.1 การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ผู้บริหารการศึกษาและนักศึกษา  เพื่อศึกษาหลักสูตรระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา  อันจะเป็นประโยชน์ร่วมกันของภาคี  การแลกเปลี่ยนดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนและการวิจัย  ซึ่งทำให้เกิดผลงานทางวิชาการที่ทำร่วมกัน  การตีพิมพ์ผลงานร่วมกัน  หรือการศึกษาดูงาน

3.2 การให้ทุนการศึกษาสำหรับอาจารย์และนักศึกษาไปศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการรับรองของภาคี

3.3 การสนับสนุนความร่วมมือในการจัดหลักสูตรร่วมระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของภาคีในสาขาวิชาที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ

3.4 การอำนวยความสะดวกในการฝึกอบรมให้แก่ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา

3.5 การศึกษารูปแบบของการถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการรับรองของภาคีและการยอมรับคุณวุฒิการศึกษาและปริญญาในระดับอุดมศึกษาระหว่างกัน

3.6 ความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาที่บูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work Integrated Learning) การเรียนรู้จากการทำงาน และสหกิจศึกษา

3.7 ความร่วมมือในการจัดนิทรรศการทางการศึกษา การสัมมนาทางวิชาการ การประชุมทางวิชาการในหัวข้อที่ภาคีมีความสนใจร่วมกัน การจัดการฝึกอบรม และการเข้าร่วมการประชุมและการอภิปรายทางการศึกษา

3.8 ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่ภาคีให้ความเห็นชอบร่วมกัน

4. ความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย-ไต้หวัน จะช่วยผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และนักวิจัยไทย ตามเป้าหมายการผลิตกำลังคนระดับสูงของประเทศทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น  และการแลกเปลี่ยนนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญระหว่างไทยกับไต้หวันจะสามารถสนองตอบนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมและพัฒนาบทบาทของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้าน  ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อสร้างและผลิตผลงานการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ  การส่งคณาจารย์ นักวิชาการและนักวิจัยไปศึกษาและทำงานวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาของไต้หวันที่มีวิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยทัดเทียมกับประเทศตะวันตก  จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้แก่การอุดมศึกษาไทย  และช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยกับไต้หวันให้แน่นแฟ้น ยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศในการส่งนักศึกษาไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป หรือออสเตรเลีย  เนื่องจากมหาวิทยาลัยไต้หวันได้สร้างผลงานทางวิชาการที่เป็นที่ประจักษ์ของเวทีวิชาการนานาชาติ
–ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 ตุลาคม 2554–


About Auther : Webmaster  (439 Posts)

Thai Education Portal


Share this Story
Categories
ไม่มีหมวดหมู่  
Tags

Comments are closed.

Translation

Englishภาษาไทย

คำค้น